Monday, April 9, 2007

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่ 8 )

แก้ปัญหาชีวิตด้วยทาน ศีล ภาวนา

พูดถึงปัญหาของชีวิตมันก็มีสารพัดอย่าง แต่ปัญหาส่วนใหญ่ก็เกิดจากเรื่องความรักและเรื่องเงินทอง ฐานะความเป็นอยู่ วิธีแก้ปัญหาของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป สำหรับความเห็นของอาจารย์ การแก้ปัญหาทุกเรื่อง ต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน

อาจารย์เคยพบกับพระองค์หนึ่ง ก่อนที่จะบวชพระเขาก็เป็นคนที่มีฐานะดี เป็นลูกชายของผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในสังคมไทย เขาเล่าประสบการณืให้อาจารย์ฟังว่า หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย เขาก็ทำงานสร้างฐานะ เมื่อมีเงินเขาก็ชอบที่ยวเหมือนผู้ชายทั่วไป กินเหล้าเมายา มีเพื่อนผู้หญิง เที่ยวกลางคืน ใช้ชีวิตแบบหนุ่มเจ้าสำราญนี่แหละ แต่แล้ววันหนึ่งธุรกิจของเขาเกิดปัญหา มีหนี้สิ้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงที่เขามีปัญหาอยู่นี้ เขาก็ได้พบกับอุบาสิกาคนหนึ่ง อุบาสิกาคนนี้แนะนำวิธีแก้ปัญหาให้เขา 3 ข้อ

1. ให้ทาน เขากำลังมีปัญหาเรื่องหนี้สินอยู่หลายล้าน แต่อุบาสิกาแนะนำให้เขาทำบุญให้ทานเป็นข้อแรก
2. รักษาศีล ต้องหยุดเที่ยวกลางคืน เลิกอบายมุข หยุดกินเหล้าเมายา ตั้งใจรักษาศีล 5

3. เจริญเมตตาภาวนา ให้ฝึกทำสมาธิเพื่อให้ใจสงบ มีความสุขใจ


เขาก็เชื่อฟังอุบาสิกา ปฏิบัติตามคำแนะนำคือทำบุญให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ปรากฏว่าไม่นานชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปแก้ปัญหาได้ภาระหนี้สิ้นค่อยๆ หมดไป จนในที่สุดเมื่อจัดการทุกอย่างเรียบร้อย เขาก็บวชพระจนถึงปัจจุบัน อุบาสิกาซึ่งเคยให้คำแนะนำแก่เขาก็ได้เข้ามาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดเดียวกันนี่แหละ

เมื่อเขาบวชเป็นพระแล้ว เวลามีโยมผู้หญิงมากราบ มาปรึกษาปัญหา ท่านก็ให้อุบาสิกาช่วยรับแขก ทุกข์ของผู้หญิงส่วนมากก็มี 2 เรื่องนั่นแหละ คือผิดหวังในความรัก กับเรื่องหนี้สิ้นเงินทอง อุบาสิกาก็สอนวิธีแก้ปัญหาในชีวิต ให้ปฏิบัติตาม 3 ข้อนี้ คือให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ใครปฏิบัติตามนี้แล้วก็แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

การให้ทาน บางคนอาจจะคิดว่า ถ้าตัวเองมีปัญหาหนี้สินอยู่จะมีเงินที่ไหนไปทำบุญให้ทาน จริงๆ แล้ว การทำบุญให้ทานนั้น ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะการทำบุญกับวัด กับพระเท่านั้น ไม่ว่าจะให้แก่พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อน ให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนหรือกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เรียกว่าเป็นทานทั้งสิ้น จะให้มากให้น้อยก็แล้วแต่กำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์ของผู้ให้

การให้ทานเป็นอุบายอย่างหนึ่งที่จะเปลี่ยนความรู้สึกของทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีปัญหาเคยทะเลาะกัน ไม่พูดกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งแสดงน้ำใจด้วยการซื้อขนมหรือผลไม่มาฝาก ก็จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน เปลี่ยนความรู้สึกที่เคยขุ่นเคืองต่อกันมาเป็นมิตรได้ มีอานิสงส์เหมือนการทำบุญให้ทานเหมือนกัน

นอกจากการให้ทรัพย์สินเงินทองแล้ว การทำทานก็มีหลายวิธี ทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไรก็สามารถเป็นผู้ให้ได้เสมอ ตามหลักการบำเพ็ญทาน 10 ประการได้แก่

1. ให้ทานด้วยทรัพย์สินเงินทอง
2. ให้ทานด้วยสายตาที่เมตตาปราณี

3. ให้ทานด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส

4. ให้ทานด้วยวาจาที่ไพเราะน่าฟัง

5. ให้ทานด้วยแรงงานช่วยเหลือผู้อื่น

6. ให้ทานด้วยการอนุโมทนายินดีเมื่อผู้อื่นทำดี

7. ให้ทานด้วยการให้อาสนะ (ที่นั่ง)

8. ให้ทานด้วยการให้ที่พัก

9. ให้ทานด้วยการให้อภัย

10. ให้ทานด้วยการให้ธรรมะ

การให้เป็นเหตุแห่งความสุข การเสียสละแบ่งปันสิ่งที่เรามีให้แก่ผู้อื่น เป็นการฆ่าความตระหนี่ถี่เหนียว ทำให้จิตใจสบาย

การรักษาศีล เมื่อมีปัญหาให้เราสำรวจตัวเองก่อนว่า ตัวเรานั้นสำรวมกาย วาจา ใจ เรียบร้อยหรือไม่ บางทีเราอาจขี้บ่น คำพูดหรือการแสดงออกของเราสร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง แก่ผู้อื่นหรือไม่ ให้สำรวจตัวเองด้วยใจเป็นธรรม เพื่อที่เราจะได้ปรับปรุงตัวเอง ตั้งเจตนาในการรักษาศีล 5 ให้สมบูรณ์อย่างน้อยที่สุดก็เป็นกรอบทำให้เราไม่เบียดเบียนผู้อื่น

หัวใจของศีลคือความไม่เบียดเบียน ตามปกติก็ให้เรารักษาศีลก่อน เมื่อเรารักษาศีลสมบูรณ์ ศีลเกิดขึ้นแล้ว ในที่สุดศีลก็จะรักษาเรา

การเจริญภาวนา เมื่อมีปัญหาอย่าเพิ่งรีบร้อนที่จะแก้ปัญหาภายนอก ให้ตั้งสติ หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิด หยุดทุกสิ่งทุกอย่างไว้ก่อน กำหนดร็ลมหายใจเข้าออกยาวๆ ลมหายใจเข้าลึก ๆ ให้มีสติ มีความรู้สึกตัวกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ติดต่อกันต่อเนื่องกัน มีสมาธิตั้งมั่นกับลมหายใจ ปล่อยวางความรู้สึกที่ไม่ดี ปล่อยวางจิตใจให้ว่างๆ ว่างจากอดีต ว่างจากอนาคต ว่างจากความไม่สบายใจ เหลือแต่จิตที่มีความรู้สึกตัว โอปนยิโก น้อมเข้าไปหาธรรมชาติของจิตที่เป็นประภัสสร บริสุทธิ์ผ่องใส เมื่อจิตสงบเบาสบายแล้ว จึงค่อยๆ คิดแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา เมื่อจิตใจดี สบายใจแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่งก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ไม่ว่าจะมีวิกฤติหรือเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นกับเรา สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือรักษาใจของเราให้ดี เพราะใจที่เป็นประธาน ใจเป็นหัวหน้า เมื่อใจดี ก็คิดดี พูดดี ทำดี ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดีขึ้นได้ตามเหตุปัจจัย

No comments: