Sunday, April 8, 2007

เราเกิดมาทำไม (ตอนที่4)

การปฏิบัติธรรม คือชีวิตที่เราวางแผนไว้แล้ว

อาจารย์รู้สึกเห็นดีด้วยกับการศึกษาและวิจัยของแพทย์ตะวันตก ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วก็ค่อนข้างจะสอดคล้องกับประสบการณ์ชีวิตของอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรม

ตั้งแต่สมัยวัยรุ่น อาจารย์ก็ชอบปีนเขา วางแผนพิชิตยอดเขาสูงๆ ปีนเขาในช่วงฤดูหนาว ภูเขามีหิมะปกคลุมหนา ซึ่งมีน้อยคนเท่านั้นที่จะขึ้นไปถึงได้ ถ้าพลาดพลั้งก็อันตรายถึงชีวิต แต่เมื่อเราวางแผนไว้แล้ว ก็ตั้งใจฝึกซ้อม เตรียมการ ต่อสู้กับความยากลำบาก ระมัดระวังรักษาความปลอดภัย เมื่อทำได้สำเร็จก็รู้สึกภาคภูมิใจ มีกำลังหนักแน่น จิตใจเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว การปฏิบัติธรรมของอาจารย์ก็มีลักษณะวางแผนตั้งข้อวัตรต่างๆ ขึ้นมาเพื่อฝึกฝนตนเอง

ข้อวัตรอย่างหนึ่งที่ฝึกปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นก็คือการถือเนสัชชิก คือปฏิบัติในอิริยาบถนั่ง ยืน เดิน ไม่นอน หากง่วงนอนก็จะไม่นอนเอนกายลงนอน จะเพียงแต่พิงเสานั่งหลับเท่าที่จำเป็นแก่ร่างกายเท่านั้น ในช่วงพรรษาก็พยายามตั้งใจถือเนสัชชิกตลอดพรรษา ปรารถความเพียร ไม่เห็นแก่นอน เพื่อสร้างวิริยะ แต่ก็มักจะแพ้ที่ทำได้ครบสมบูรณ์ตลอดพรรษาก็เป็นพรรษาที่8 เมื่ออยู่ที่ประเทศอินเดีย

ในพรรษาที่ 4 อาจารย์ก็ตั้งใจอดข้าวหนึ่งเดือน ฉันแต่น้ำเปล่าๆ ตามปกติคนเราที่จะอดข้าวขนาดนี้ก็เรียกว่าคนยากจน เราทำตัวเป็นคนจนที่สุดคนหนึ่ง มนุษย์ในโลก 6,500 ล้านคน มีไม่กี่คนที่สมัครใจทำอย่างนี้ แต่เราก็ทำเพื่อฝึกกาย ฝึกจิต สร้างกำลังใจ ทดสอบความอดทนอดกลั้น เมื่อครบหนึ่งเดือน ทำได้ตามที่ตั้งใจ ก็ภูมิใจ มีกำลังดี

ในพรรษาที่ 6-7 ก็เก็บอารมณ์ เข้าห้อง กรรมฐาน ปรารถความเพียร ข้อวัตรต่างๆ ที่ปฏิบัติก็เช่น พิจารณาทุกขเวทนา นั่งสมาธิเพชร ไม่ขยับตัว ไม่เปลี่ยนอิริยาบทตลอดคืน เอาทุกขเวทนาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ส่วนมากก็ทำไม่สำเร็จ นานๆ ทีหนึ่งจึงจะทำได้ นอกจากนั้นก็ตั้งใจปรารภความเพียรด้วยการรักษาความรู้สึกตัวติดต่อกัน 7 วัน 7 คืนไม่นอน ไม่หลับ นับเป็นวัตรปฏิบัติที่ทรมานทำได้ยาก ต้องยอมแพ้ ล้มเหลวไปหลายสิบครั้ง กว่าจะทำได้ก็ต้องอาศัยกำลังสติและสมาธิที่เข้มแข็งจริงๆ เมื่อทำได้สมบูรณ์ก็รู้สึกพอใจ มีกำลังใจ

นอกจากนี้ ก็ออกธุดงค์ไปในป่า เมื่อวางแผนไปธุดงค์ในที่ซึ่งมีสัตว์ป่าดุร้าย จริงๆแล้วเราก็กลัวตาย แต่เพื่อจะต่อสู้เอาชนะความกลัว เอาชนะใจตัวเอง ถ้าเราสามารถเอาชนะความกลัวได้ ก็ค่อนข้างจะรักษาชีวิตตัวเองได้ ถ้ากลัวแล้วก็จะอันตรายตกเป็นเหยื่อของสัตว์ป่า เพราะตามธรรมชาติของสัตว์ป่าก็จะทำร้ายผู้อ่อนแอ แต่ถ้าเราจิตใจหนักแน่น เข้มแข็ง มีศีลมั่นคง มีเมตตาต่อสรรพสัตว์แล้วก็เป็นการรักษาชีวิตเราจากสัตว์ป่า ตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระอริยเจ้าอยู่ในป่าก็ไม่มีอันตราย เพราะท่านมีเมตตาจิต มีวิปัสสนาปัญญาเข้าถึงอนัตตาคือไม่มีตัว ไม่มีตน สัตว์ป่าก็ไม่ทำร้ายท่าน เมื่อกลับจากธุดงค์ด้วยความปลอดภัยก็รู้สึกภูมิใจที่เราทำใจได้ เอาชนะความกลัวได้ และผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ มาได้ด้วยดี

สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมโดยทั่วไปก็เช่นเดียวกัน ทุกคนมีเจตนา มีความตั้งใจที่ก็ฝึกหัดขัดเกลาจิตใจตนเอง ให้รู้จักอดทนอดกลั้น ด้วยการกินน้อย นอนน้อย พูดน้อยรู้จักรักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยด้วยการรักษาศีล นั่งสมาธิ เจริญภาวนาเป็นต้น อาจารย์จึงรู้สึกว่าน่าเชื่อตามที่กลุ่มจิตแพทย์วิจัยไว้เหมือนกันว่า ทุกคนก่อนที่จะเกิดได้วางแผนชีวิตของตนไว้แล้ว ว่าเราจะเกิดมาอย่างไร เพื่ออะไร เรายอมรับการเกิดนี้แล้วว่าเพื่อพัฒนาชีวิตจิตใจของเรา เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ด้วยใจดี

ความสำเร็จในชีวิตจึงอยู่ที่ เราทำใจดีได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเจอวิกฤต เจอปัญหาหนักขนาดไหน ก็ยังรู้จักคิดดี คิดถูก ตั้งมั่นอยู่ในความดี ความถูกต้องได้ คนที่มีปัญหาในชีวิต มีทุกข์มากๆ หากมองแง่ดีก็เป็นการสร้างบารมี เมื่อเอาชนะปัญหา ผ่านพ้นอุปสรรคได้ด้วยใจดีก็จะทำให้เข้มแข็ง มีกำลังใจมากขึ้น ตรงกันข้ามกับคนที่มีชีวิตสบายๆ มีฐานะดี กินดีอยู่ดี ได้ทุกสิ่งทุกอย่างสมใจ เมื่อไม่มีอุปสรรคแล้ว บารมีก็ไม่เกิดเหมือนกัน

ลองพิจารณาดูเรื่องการบำเพ็ญทศบารมีของพระโพธิสัตว์ เป็นต้น พระโพธิสัตว์เกิดมาแต่ละชาติ ก็ลำบากแสนสาหัสจนเกือบตาย แต่พระองค์ก็ต่อสู้ เอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ด้วยการทำความดี ซึ่งเรียกว่าการบำเพ็ญบารมี ไม่ว่าจะเป็นทานบารมี ศีลบารมี ขันติบารมี ฯลฯ พระองค์ก็ผ่านพ้นอุปสรรค บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ด้วยการบำเพ็ญบารมีนั้นจนเต็มเปี่ยม ในพระชาตินั้นๆ

ดังนั้น หากชีวิตเรามีทุกข์หนัก รู้สึกว่าเรานี้โชคร้าย สามีหรือภรรยานอกใจ ครอบครัวแตกแยก ถูกโกง มีหนี้สิ้น ตกงาน ฯลฯ ขอให้เราตั้งสติ รู้จักคิดดี คิดถูก เอาการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง หากเราทำใจได้ ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ได้ด้วยใจดี ด้วยการทำความดี ก็เป็นการสร้างบารมี ถือเป็นความสำเร็จในชีวิตแล้ว

No comments: