ชีวิตคือการศึกษา
มนุษย์เราไม่ว่าจะเกิดมาเป็นใคร เป็นลูกของใครก็ตาม ต่างก็มีทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ชีวิตนี้คือทุกข์ หมายความว่า ความเกิด ความแก ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ ตามหลักพระพุทธศาสนา ชีวิตอันประเสริฐสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงสอนคือชีวิตที่เป็นไปเพื่อการศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในอริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ
1.ทุกข์
2.เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์(สมุทัย)
3.ความดับทุกข์(นิโรธ)
4.ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์(มรรค)
การศึกษาในพระพุทธศาสนามีเป้าหมายสำคัญเพื่อความดับทุกข์ โดยการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 หรือสรุปโดยย่อเป็น “ไตรสิกขา” หมายถึงการศึกษา 3 ประการประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
1.ศีล เป็นข้อปฏิบัติเพื่อฝึกอบรมกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย ให้มีความประพฤติดีงาม
2.สมาธิ คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมใจ เพื่อให้จิตใจสงบตั้งมั่น พร้อมแก่การพิจารณา คือการใช้ปัญญาลึกซึ้ง
3. ปัญญา คือข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
ธรรมะแต่ละข้อในไตรสิกขานี้ ต่างก็มีความสัมพันธ์กัน คือเมื่อปฏิบัติข้อแรกคือศีลสมบูรณ์ เรียกว่าศีลถึงใจ ชีวิตก็จะเป็นสุข สบาย มีความโปร่งใส โล่งใจ ความโปร่งโล่งเบาสบายนั้นจะเป็นฐานทำให้ฝึกสมาธิได้ง่าย เมื่อจิตนิ่งสงบ จึงย่อมจะโน้มหาความจริงได้ง่าย จิตที่หยั่งเห็นความย่อมตระหนักว่า ไม่มีอะไรควรยึดถือ ปัญญาซึ่งเป็นเครื่องช่วยให้หลุดพ้นจากทุกข์ก็จะเกิดขึ้น ไตรสิกขาจึงเป็นหลัก ปฏิบัติที่สำคัญ ที่จะช่วยในการดับทุกข์ในชีวิตได้อย่างแท้จริง
ถึงแม้ว่าใครจะมีความทุกข์มากขนาดไหน เคยทำบาปทำกรรมไว้มากก็ตาม หากหยุดทำกรรมชั่วได้ ตั้งมั่นอยู่ในศีล 5 ปฏิบัติภาวนาจนเกิดวิปัสสนาปัญญาแล้ว ก็มีโอกาส มีทางไปที่สูงขึ้น จนถึงขั้นบรรลุอริยมรรค อริยผล นิพพานได้ ดังเช่นองคุลีมาล เคยฆ่าคนมาแล้ว 999 คน ตามธรรมดาก็จะต้องตกนรก แต่องคุลีมาล ก็เจริญวิปัสสนาจนเกิดปัญญารู้แจ้ง หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นสมบูรณ์ บรรลุนิพพาน พ้นไปจากกฎแห่งกรรม พ้นไปจากวัฏสงสารได้ การเจริญวิปัสสนาจึงเปรียบเหมือนระเบิดนิวเคลียร์ล้างบาปทั้งหมดได้
อานิสงส์ของศีล คือ ความสุข เพราะเมื่อสุขใจ เป็นศีล ศีลถึงใจ ชีวิตก็ไม่มีโทษภัย มีความสุขในเบื้องต้น อานิสงส์ของสมาธิคือ ความสุขมากยิ่งขึ้น อานิสงส์ของปัญญา คือ ความสุขสูงสุด
นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
นิพพานัง ปะระมัง สุขัง วะทันติ พุทธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นความสุขสูงสุด
No comments:
Post a Comment