พิจารณาความตายเพื่อเข้าใจการมีชีวิตอยู่
“หากเรามีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 1 เดือน เราต้องการทำอะไร”
ตั้งคำถามและค่อยๆ พิจารณาทบทวนดู ไม่ต้องรีบหาคำตอบ แม้ว่าจะมีคำตอบเกิดขึ้นก็ให้เก็บไว้ในใจ ทำใจสงบนิ่งง แล้วก็ตั้งคำถามขึ้นใหม่ พิจารณาในสมาธิอาจจะนั่งสมาธิสักชั่วโมงหนึ่งหรือครึ่งชั่วโมงก็ได้ เมื่อคำตแบเกิดขึ้นก็รับรู้และปล่อยวาง แล้วก็ตั้งต้นพิจารณาใหม่ ทำอยู่อย่างนี้สักระยะหนึ่ง อาจจะทำอยู่สัก 1 เดือน ตั้งสติพิจารณาทบทวนเฉพาะคำถามข้อนี้ เป็นการพิจารณาปริศนาธรรมซึ่งก็เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง เป็นอุบายที่ช่วยไม่ให้จิตฟุ้งซ่านในสิ่งต่างๆ
ต่อไปเดือนที่ 2 ตั้งคำถามใหม่ว่า
“หากเรามีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 7 วัน เราต้องการทำอะไร”
ปฏิบัติเหมือนกันคือค่อยๆ พิจารณาทบทวนดู ไม่ต้องรีบหาคำตอบ หากคำตอบเกิดขึ้นก็รับรู้และปล่อยวาง แล้วก็ตั้งต้นใหม่พิจารณาในสมาธิ ทำเช่นนี้ทุกวันสักระยะหนึ่งผ่านไปอีกหนึ่งเดือน
เดือนที่ 3 ตั้งคำถามใหม่ว่า
“หากเรามีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงวันเดียว เราต้องการทำอะไร”
พิจารณาในลักษณะเดียวกัน พิจารณาไปเรื่อยๆ คำตอบอาจจะเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย เพ่งพิจารณษในสมาธิถึงสิ่งที่เราอยากจะทำจริงๆ ในชีวิต สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตที่เราอยากจะทำจริงๆ คืออะไร ในที่สุดคำตอบที่ได้จะไม่ใช่มาจากความคิด แต่เป็นความรู้สึกภายในจิตใจจริงๆ
การพิจารณาอย่างนี้เป็นวิธีเจริญมรณานุสติวิธีหนึ่ง ช่วยปลุกจิตใจให้ตื่นจากความลุ่มหลงมัวเมาในชีวิต หลงอยู่ว่าเรายังไม่แก่ ยังไม่เจ็บ เรายังไม่ตาย เป็นวิธีกระตุ้นปัญญาให้ทำงาน เป้าหมายในชีวิตก็จะชัดเจนขึ้นมา เห็นชัดว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร กำไรของชีวิตคืออะไร ทำอะไรจึงจะเป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่น ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคืออะไร
เอาจิงเอาจังในที่นี้ก็คือปฏิบัติเพิ่อเข้าหลักสติปัฏฐาน 4 ให้สมบูรณ์ สำหรับประสบการณ์ของอาจารย์ ก็อาศัยวิธีที่เรียกว่า “นั่งจนตาย” คือนั่งขัดสมาธิอย่างไรก็นั่งอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนอิริยาบถ เมื่อเกิดทุกขเวทนาก็ยกเอาทุกขเวทนาเป็นอารมณ์กรรมฐาน เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพ่งพิจารณาทุกขเวทนา เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิกับทุกขเวทนา คือไม่ยินดียินร้าย ไม่มีวิภวตัณหา ไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ขณะที่วิภวตัณหาดับ ทุกขเวทนาก็จะดับในขณะนั้น เห็นด้วยปัญญาว่าเราผู้รู้ ผู้เห็นทุกขเวทนา กับความรู้สึกทุกขเวทนาอยู่คนละฝ่ายกัน ใจสงบเย็นด้วยความปล่อยวาง เห็นทุกข์แต่ไม่มีทุกข์ มองเห็นด้วยใจว่า เวทนาเป็นสักแต่เวทนา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่อยู่ในเวทนา เวทนาไม่ใช่อยู่ในเรา เวทนาไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ตัวตน ทุกขเวทนาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จุดมุ่งหมายของการเพ่งพิจารณาเรื่องความตายก็เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในการใช้ชีวิตของเรา
ที่จะดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาทขาดสติ และฝึกหัดที่จะปล่อยวาง อารมณ์ที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ได้มากขึ้น ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายมีคุณค่า และมีความสุขใจ
No comments:
Post a Comment