Wednesday, January 14, 2009

ลีลากรรมของสตรีสมัยพุทธกาล อ.วศิน อินทสระ วิสาขามหาอุบาสิกา (สตรีผู้งามพร้อม)

ลีลากรรมของสตรีสมัยพุทธกาล
อ.วศิน อินทสระ

วิสาขามหาอุบาสิกา
(สตรีผู้งามพร้อม)


มหาสมุทรย่อมไม่อิ่มด้วยน้ำ
บัณฑิตและปราชญ์ย่อมไม่อิ่มด้วยคำสุภาษิต
ผู้มีศรัทธาเชื่อกรรมและผลของกรรม
ย่อมไม่อิ่มด้วยการทำบุญ
นางวิสาขาเป็นผู้มีศรัทธา
จะให้นางอิ่มด้วยบุญได้ไฉน
พระอานนท์กล่าวว่า : นางวิสาขามหาอุบาสิกานั้น มีเรื่องค่อนข้างจะมากอยู่ เป็นสตรีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพุทธจักร เป็นผู้มีบุญ และรูปงามสมบูรณ์ด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี ๕ คือ ผมงาม หมายถึงผมซึ่งยาวสลวยลงมาแล้วมีปลายช้อนขึ้นเองโดยธรรมชาติ ฟันงาม หมายถึง ฟันขาวสะอาดเป็นระเบียบเรียงรายประดุจไข่มุกที่นายช่างจัดเข้าระเบียบแล้ว ริมฝีปากงาม หมายถึงริมฝีปากบางโค้งเป็นรูปกระจับสีชมพูเรื่อคล้ายผลตำลึงสุก เป็นเองโดยธรรมชาติ มิใช่เพราะตกแต่งแต้มทา ผิวงาม ลักษณะนี้มี ๒ อย่าง คือ ถ้าผิวขาวก็ขาวละเอียด อ่อนเหมือนสีดอกกรรณิการ์ ถ้าผิวดำก็ดำอย่างดอกอุบลเขียว อมเลือดอมฝาด เปล่งปลั่งคล้ายสำน้ำผึ้งซึ่งนำมาจากรังผึ้งใหม่ ๆ วัยงาม หมายถึง เป็นคนงามตามวัย งามทุกวัย เมื่ออยู่ในวัยเด็กก็งามอย่างเด็ก เมื่ออยู่ในวัยสาวก็งามอย่างหญิงสาว เมื่ออยู่ในวัยชราก็งามอย่างคนชรา

นาง วิสาขามิใช่ชาวสาวัตถีโดยกำเนิด แต่เป็นชาวสาเกต ต้นตระกูลดั้งเดิมของนางอยู่เมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ (สมัยนั้นอังคะและมคธรวมอยู่ในปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร เมืองหลวงของแคว้นอังคะชื่อจัมปา ภัททิยะเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของแคว้นอังคะ) สมัยเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปขอเศรษฐีจากกรุงราชคฤห์นั้น จอมเสนาแห่งแคว้นได้มอบธนัญชัยเศรษฐีบิดาวิสาขาให้มา เมื่อเดินทางมาถึงเขตแคว้นโกศล ธนัญชัยเห็นสถานที่แห่งหนึ่งมีทำเลเหมาะที่จะสร้างเมืองได้ จึงทูลขอพระเจ้ากรุงสาวัตถีที่จะพักอยู่ที่นั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงอนุญาต ต่อมาจึงสร้างเป็นเมืองให้ชื่อว่า “สาเกต” เพราะนิมิตที่มาถึงตรงนั้นเมื่อตะวันรอน

วิสาขาเจริญเติบ โตขึ้นที่กรุงสาวัตถีนั้นเอง เจริญวัยขึ้นด้วยความงาม งามอย่างจะหาหญิงใดเสมอเหมือนได้ยาก แต่เป็นผู้ไม่หยิ่งทะนงในความงาม มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิสัย มีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อยสมเป็นกุลสตรีที่ได้รับการอบรมดี จนกระทั่งมีอายุพอสมควรจะแต่งงานแล้ว บิดาแห่งปุณณวัฒนกุมารในกรุงสาวัตถี จึงส่งทูตไปขอนางเพื่อบุตรของตน

การแต่งงานของนางวิสาขาเป็นเรื่องมโหฬารยิ่ง

ธนัญชัยเศรษฐีให้นายช่างทำเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ เป็นชุดวิวาห์แห่งธิดา เครื่องประดับนี้แพรวพราวไปด้วยเพชรนิลจินดามากหลาย ไม่มีผ้าด้าย ผ้าไหม หรือผ้าใด ๆ เจือปนเลย ที่ ๆ ควรจะใช้ผ้า เขาก็ใช้แผ่นเงินแทน ในเครื่องประดับนี้ต้องใช้เพชร ๔ ทะนาน แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน

ลูก ดุมทำด้วยทอง ห่วงทำด้วยเงิน เครื่องประดับนี้คลุมตั้งแต่ศีรษะจรดหลังเท้า บนศีรษะทำเป็นรูปนกยูงรำแพน ขนปีกทั้งสองข้างทำด้วยทองข้างละ ๕๐๐ ขน จะงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ นัยน์ตาทำด้วยแก้วมณี ก้านขนและขาทำด้วยเงิน นกยูงประดิษฐ์อยู่เหนือเศียร เครื่องประดับนี้มีราคา ๙๐ ล้านกหาปณะ ค่าจ้างทำหนึ่งแสนกหาปณะและทำอยู่ถึง ๔ เดือน โดยนายช่างจำนวนร้อย จึงสำเร็จลง

คืนสุดท้ายที่วิสาขาจะจากไปสู่ตระกูลสามี นั่นเอง ธนัญชัยเศรษฐีผู้บิดาได้ให้โอวาทแก่นางเป็นที่ประทับใจและเป็นประโยชน์ในการ ครองเรือนยิ่งนัก โอวาทนั้นมี ๑๐ ข้อดังนี้

วิสาขา! เมื่อลูกไปสู่ตระกูลสามีชื่อว่าอยู่ไกลหูไกลตาพ่อ ลูกจงจำโอวาทของพ่อไว้เพื่อเป็นตัวแทนของพ่อ เป็นเกราะป้องกันภยันตรายสำหรับลูก

๑. จงอย่านำไฟในออก
๒. จงอย่านำไฟนอกเข้า
๓. จงให้แก่คนที่ให้
๔. จงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้
๕. จงให้แก่คนที่ทั้งให้และไม่ให้
๖. จงนั่งให้เป็น
๗. จงนอนให้เป็น
๘. จงบริโภคให้เป็น
๙. จงบูชาเทวดา
๑๐. จงบูชาไฟ

นาง วิสาขาเข้าสู่พิธีอาวาหมงคลด้วยเกียรติอันยิ่งใหญ่ การต้อนรับทางกรุงสาวัตถีนั้นมโหฬารเหลือคณนา แต่บังเอิญตระกูลของปุณณวัฒนกุมารนั้นมิได้นับถือพระพุทธศาสนาแต่นับถือ ศาสนาของนิครนถ์นาฎบุตรหรือศานาเชน มักจะเชิญนักบวชผู้ไม่นุ่มห่มอะไรมาเลี้ยงเสมอ นางวิสาขามีความละอายเป็นพ้นที่ จนไม่สามารถออกมากราบไหว้และเลี้ยงสมณะที่มิคารเศรษฐีบิดาแห่งสามีเลื่อมใส ได้ จึงเป็นที่ตำหนิของมิคารเศรษฐี นางวิสาขาเลื่อมใสพระรัตนตรัยตั่งแต่สมัยอยู่เมืองภัททิยะแล้ว เรื่องนี้เป็นข้อยุ่งยากในครอบครัวประการเดียวที่ยังแก้ไม่ตก

วันหนึ่งเวลาเช้า พระภิกษุรูปหนึ่งออกบิณฑบาตผ่านมาทางเรือนของมิคารเศรษฐี เวลานั้นนางวิสาขากำลังปฏิบัติบิดาแห่งสามีซึ่งบริโภคอาหารอยู่ เมื่อพระมายืนอยู่ที่ประตูเรือนตามอริยตันติ เศรษฐีมองเห็นแล้วแต่ทำเฉยเสีย และหันหน้าเข้าฝา บริโภคอย่างไม่สนใจ นางวิสาขาหาอุบายให้พ่อผัวมองไปทางประตูเรือนด้วยวิธีต่างๆ โดยวาจาเช่นว่า

“ท่านบิดา ดูที่ซุ้มประตูนั้นซิ เถาวัลย์มันเลื้อยรุงรังเหลือเกินแล้วยังไม่มีเวลาให้คนใช้ทำให้เรียบร้อยเลย”

“ช่างมันเถิด ไว้อย่างนั้นก็สวยดี” เศรษฐีพูดโดยมิได้มองหน้านางวิสาขาและมิได้เหลียวไปดูที่ซุ้มประตูเลย

“ท่านบิดา ดูนกตัวนั้นซิ สีมันสวยเหลือเกิน เกาะอยู่ที่ริมรั้วใกล้ซุ้มประตูนั่นแน่ะ”

“เออ พ่อเห็นแล้ว เห็นมันมาจับอยู่เสมอจนพ่อเบื่อจะดูมัน” เศรษฐียังคงก้มหน้าบริโภคต่อไป

เมื่อนางเห็นว่าหมดหนทางที่จะให้บิดาของสามีเห็นพระภิกษุอย่างถนัดได้จึงกล่าวขึ้นว่า

“นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิดพระคุณเจ้า ท่านมิคารกำลังบริโภคของเก่า”

เพียงเท่านี้เอง เรื่องได้ลุกลามไปอย่างใหญ่หลวง เศรษฐีหยุดรับประทานอาหารทันที ตวาดนางวิสาขาด้วยอารมณ์โกรธ

“วิสาขา เธออวดดีอย่างไร จึงบังอาจพูดว่า เรากินของเก่าไม่สะอาด มีเรื่องหลายเรื่องที่เราเห็นเธอและบิดาของเธอทำไม่สมควร ต่อแต่นี้ไปเธออย่าได้อาศัยอยู่ในบ้านของเราอีกเลย ขอให้เตรียมตัวกลับไปบ้านของเธอได้” เศรษฐีพูดเท่านี้แล้วก็ลุกขึ้นให้คนไปตามพราหมณ์พี่เลี้ยงของนางมาแล้วบอก ให้พราหมณ์นำนางวิสาขากลับไป

พราหมณ์ทราบความแล้วเดือดร้อนใจเป็นนักหนา รีบเข้าพบนางวิสาขาและถามด้วยจิตกังวลว่า

“แม่เจ้า มีเรื่องอะไรรุนแรงนักหรือ ท่านมิคารจึงให้ส่งแม่เจ้ากลับเมืองสาเกต”

“ดู ก่อนพราหมณ์” นางพูดอย่างเยือกเย็นปราศจากความสะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น “เมื่อข้าพเจ้ามาก็มาด้วยเกียรติยศอันใหญ่หลวง มีข้าทาสบริวารเป็นจำนวนร้อย เมื่อถึงคราวกลับไปจะกลับอย่างไร้ญาติขาดที่พึ่งหาควรแก่ข้าพเจ้าไม่ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าอยากให้เรื่องนี้ได้รับการพิจารณาเสียก่อน เมื่อเป็นที่แน่นอนว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ถูกหรือผิดก็ตาม ข้าพเจ้าก็จะขอลาไป และไปอย่างมีเกียรติอย่างคราวที่มา”

พราหมณ์ ได้นำนางวิสาขาเข้าหาท่านเศรษฐีเพื่อซักฟอกความผิดให้เห็นแจ้ง มิคารเศรษฐีนั่งหน้าถมึงทึงมีอาการเกรี้ยวกราดฉายอยู่ทั้งใบหน้าและแววตา

“มีอะไรอีก พราหมณ์” เศรษฐีตั้งคำถามกระชากๆ

“ข้าแต่ท่านเศรษฐี แม่เจ้ายังไม่ทราบความผิดของตนว่ากระทำผิดประการใดจึงต้องถูกไล่กลับ” พราหมณ์ตอบ

“ความผิดประการใด” เศรษฐีทวนคำ “ก็การที่เธอบังอาจว่าเรากินของเก่าของสกปรกน่ะ ยังไม่พออีกหรือ”

“ข้าแต่ท่านบิดา” นางวิสาขาพูดด้วยน้ำเสียงเรียบเป็นปกติ “คำที่ลูกพูดนั้นมิได้หมายความว่าท่านบิดาบริโภคของสกปรก แต่ลูกหมายความ ท่านบิดากำลังกินบุญเก่า ลูกคิดว่าการที่ท่านบิดามั่งมีศรีสุข มีเงินทองล้นเหลืออยู่ในปัจจุบันชาตินี้โดยที่ท่านบิดามิได้ลงทุนลงแรงทำ อะไรมากนัก ทรัพย์สมบัติล้วนแต่เป็นมรดกตกทอดมาทั้งสิ้นนั้น เป็นเพราะบุญเก่าของท่านบิดาอำนวยผลให้ ถ้าท่านบิดาไม่สั่งสมบุญใหม่ให้เกิดขึ้น บุญเก่านั้นก็จะต้องหมดไปสักวันหนึ่ง ลูกหมายถึงบุญเก่านี่เองจึงพูดว่า บิดากำลังบริโภคของเก่า”

“ข้าแต่ท่านเศรษฐี ข้อนี้หาเป็นความผิดแห่งแม่เจ้าไม่” พราหมณ์พูดขึ้น

“เอา เถิด แม้นางจะไม่ผิดในข้อนี้ แต่เมื่อคืนก่อนนางก็ได้ทำสิ่งที่น่ารังเกียจ คือเราเห็นนางลงไปที่คอกลาเวลาดึกดื่นเที่ยงคืน นางลงไปทำไม เพราะนั่นเป็นกิจที่กุลสตรีไม่พึงทำ”

“ข้าแต่ท่านบิดา คืนนั้นลามันออกลูกและออกด้วยความลำบากทรมาน ลูกเพียงแต่ลงไปดูมันและช่วยมันเท่าที่ลูกจะช่วยได้ ในการลงไปลูกก็มิได้ลงไปเพียงคนเดียว มีหญิงคนใช้ไปด้วยหลายคน และนำประทีปโคมไฟสว่างไสวลงไปด้วย”

“ข้าแต่ท่านเศรษฐี แม้ข้อนี้ก็จะถือเป็นความผิดของนางหาได้ไม่” พราหมณ์กล่าว

“เอา เถิด แม้นางจะไม่ผิดในข้อนี้ แต่เมื่อคืนสุดท้ายที่นางจะมาสู่ตระกูลเรา เราได้ยินบิดาของนางพูดสั่งเสียข้อความถึง ๑๐ ข้อซึ่งเราไม่พอใจ เราไม่ต้องการสตรีที่พยายามปฏิบัติอย่างนั้นอยู่ในบ้านเรือนของเรา เพราะจะนำภัยพิบัติมาสู่ตระกูลอย่างแน่แท้ เป็นไปได้หรือที่จะห้ามมิให้เรานำไฟภายนอก เมื่อเพื่อนบ้านมาขอจุดไฟ และเมื่อไฟในบ้านดับ เราก็ต้องไปขอจุดไฟภายนอกเข้ามาในบ้าน บิดาของนางห้ามนางมิให้นำไฟในออกและไฟนอกเข้า เราทนไม่ได้ที่จะให้นางปฏิบัติเช่นนั้น เป็นการใจแคบเกินไป”

นางวิสาขายิ้มน้อยๆ แล้วกล่าวว่า

“ข้า แต่ท่านบิดา ข้อนี้บิดาของลูกหมายความว่า ถ้าหากมีเรื่องยุ่งยากในครอบครัวหรือจะเกิดระหองระแหงกับสามีหรือบิดาแห่ง สามีหรืออันโตชนใดๆ ก็อย่านำเรื่องเหล่านั้นไปเที่ยวเล่าให้ชาวบ้านฟัง เพราะเป็นเรื่องประจานตัวเอง ส่วนข้อที่ไม่ให้นำไฟนอกเข้านั้น หมายความว่า อย่าได้นำเรื่องยุ่งๆ ภายนอกบ้านมาก่อความรำคาญแก่สามี หรือบิดามารดาแห่งสามี”

“แล้วข้ออื่นๆ อีกล่ะ” เศรษฐีถามโดยมิได้เงยหน้า

นางวิสาขาชี้แจงให้ฟังตามลำดับดังนี้

“ข้อว่า จงให้แก่คนที่ให้ นั้นหมายความว่า เมื่อมีผู้มายืมของใช้หรือเงินทอง ถ้าเขาใช้คืนก็ควรจะให้เขายืมต่อไปในคราวหน้า”

“ข้อ ว่า จงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้ นั้นหมายความว่า ถ้าใครยืมเงินทองของใช้ไปแล้วไม่ใช้คืน นำไปแล้วเฉยเสีย แสดงถึงความเป็นคนมีนิสัยไม่สะอาด คราวต่อไปอย่าให้ยืมอีก โดยเฉพาะเงินทองเป็นของที่ทำให้มิตรรักกันได้ แตกกันก็ได้”

“ข้อ ว่า จงให้แก่คนที่ทั้งให้และไม่ให้ นั้นหมายความว่า เมื่อญาติพี่น้องประสบความทุกข์ยากบากหน้ามาพึ่ง จะเป็นการกู้ยืมหรือขอก็ตาม ควรให้แก่ญาติพี่น้องนั้น เขาจะใช้คืนหรือไม่ก็ช่างเถิด เพราะเป็นญาติพี่น้อง ต้องสงเคราะห์เขาตามควรแก่ฐานะ”

“ข้อว่า จงนั่งให้เป็น นั้นหมายความว่า เมื่อสามีหรือบิดามารดาของสามี หรือผู้ใหญ่อันเป็นที่เคารพนับถือนั่งอยู่ในที่ต่ำ ก็อย่าให้นั่งบนที่สูงกว่า เพราะเป็นกิริยาที่ไม่งาม ไม่สมเป็นกุลสตรี”

“ข้อว่า จงนอนให้เป็น นั้นหมายความว่า เมื่อบิดามารดาของสามีหรือสามียังไม่นอน ก็ยังไม่ควรนอน ควรปฏิบัติท่านเหล่านั้นให้มีความสุข เมื่อท่านนอนแล้วจึงค่อยนอนทีหลังและนอนวางมือวางเท้าให้เรียบร้อย พยายามตื่นก่อนสามี และบิดามารดาของสามี จัดแจงน้ำและไม้ชำระฟันไว้คอยท่าน เสร็จแล้วดูแลเรื่องอาหารเครื่องบริโภคไว้สำหรับท่าน”

“ข้อ ว่า จงบริโภคให้เป็น นั้นหมายความว่า อย่าบริโภคก่อนสามีหรือบิดามารดาของสามี คอยดูแลท่านให้ท่านบริโภคแล้วจึงค่อยบริโภคทีหลัง หรืออย่างน้อยก็บริโภคพร้อมกัน ในการบริโภคนั้นควรสำรวมกิริยาให้เรียบร้อยไม่มูมมาม ไม่บริโภคเสียงจั๊บๆ เหมือนอาการแห่งสุกร ไม่บริโภคให้เมล็ดข้าวตกเรี่ยราดดังอาการแห่งเป็ด”

“ข้อ ว่า จงบูชาเทวดา นั้นหมายความว่า ให้บูชาสามีทั้งกายและใจ มีความเคารพและจงรักในสามีเหมือนเทวดา จึงมีคำพูดติดปากกันมานานแล้วว่า สตรีที่แต่งงานแล้วและสามีรักนั้นชื่อว่าเทวดารักษาคุ้มครอง ตรงกันข้ามถ้าสามีไม่รักก็ชื่อว่าเทวดาไม่คุ้มครอง”

“ข้อ ว่า จงบูชาไฟ นั้นหมายความว่า ให้บูชาบิดามารดาของสามี ท่านทั้งสองเปรียบเหมือนไฟ มีทั้งคุณและโทษ อาจจะให้คุณให้โทษได้ ถ้าปฏิบัติดีก็จะให้คุณ ถ้าปฏิบัติไม่ดีก็ให้โทษมาก เพราะฉะนั้น จึงควรปฏิบัติต่อท่านด้วยดี มีสัมมาคารวะไม่ดูหมิ่น”

เมื่อนางวิสาขากล่าวจบลง ท่านมิคารเศรษฐีก็ก้มหน้านิ่ง ไม่รู้จะตอบนางประการใด พราหมณ์ชำระความระหว่างสะใภ้และพ่อผัวจึงกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านเศรษฐี เรื่องทั้งหมดนี้นางหามีความผิดไม่เลย นางเป็นผู้บริสุทธิ์” เศรษฐีจึงกล่าวขอโทษนางวิสาขาที่ท่านเข้าใจผิดไป นางวิสาขาคงกล่าวว่า

“ข้าแต่ท่านบิดา บัดนี้ข้าพเจ้าพ้นความผิดทั้งปวงแล้ว จึงสมควรจะกลับไปสู่เรือนแห่งบิดาตน”

“อย่า เลยลูกรัก” มิคารเศรษฐีพูดกับสะใภ้ด้วยสายตาวิงวอน นางวิสาขาจึงกล่าวว่าเมื่อนางอยู่เรือนตน ณ นครสาเกตได้มีโอกาสทำบุญและฟังธรรมตามโอกาสที่ควร เมื่อนางมาอยู่ที่นี่แล้วนางไม่มีโอกาสทำได้เลย จิตใจกระวนกระวายใคร่จะทำบุญกุศลตลอดเวลา แต่หาได้กระทำไม่ ถ้าบิดาอนุญาตให้นางทำกุศลตามต้องการของนางก็จะดี แต่ถ้าบิดาไม่อนุญาตนางก็จะขอลากลับไปสู่นครสาเกตตามเดิม เศรษฐีจึงกล่าวว่า

“ลูกรัก ทำเถิด ทำบุญได้ตามปรารถนา พ่อไม่ขัดข้อง และปุณณวัฒนกุมารสามีของเจ้าก็คงไม่ขัดข้องเช่นกัน”

เมื่อ เศรษฐีกล่าวอนุญาตเช่นนี้ หัวใจของนางวิสาขาที่เคยเหี่ยวแห้งก็กลับชุ่มชื้นเบิกบานประหนึ่งติณชาติ ซึ่งขาดน้ำมาเป็นเวลานาน และแล้วกลับได้อุทกธารา เพราะพระพิรุณหลั่งในต้นวัสสานฤดู หรือประดุจปทุมมาลย์เบ่งบานขยายกลีบ เมื่อต้องแสงระวีแรกรุ่งอรุณ ความสุขใดเล่าสำหรับผู้ใคร่บุญจะเสมอเหมือนการมีโอกาสได้ทำบุญหรือเพียงแต่ ได้ฟังข่าวว่าจะได้ทำบุญ เฉกนักเลงสุราบานซึ่งชื่นชมยินดีต่อข่าวแห่งการดื่มสุราเมื่อทราบว่ามีผู้ เชื้อเชิญ

วันรุ่งขึ้นนางวิสาขาได้ทูลอาราธนาพระผู้มีภาคเจ้า และพระภิกษุสาวกเพื่อเสวยภัตตาหารที่บ้านตน พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาแล้วเสด็จสู่บ้านของนางวิสาขา เมื่อเสวยเสร็จแล้วมีพระพุทธประสงค์จะทรงอนุโมทนา และแสดงธรรมพอเป็นเครื่องปลื้มใจแห่งผู้ถวาย นางวิสาขาจึงให้คนไปเชิญบิดาสามีมา เพื่อร่วมฟังอนุโมทนาด้วย

ตาม ปกติเศรษฐีไม่เลื่อมใสในพุทธศาสนา เวลานั้นยังศรัทธาคำสอนของนิครนถ์นาฎบุตรอยู่ ไม่ปรารถนาจะมาเฝ้าพระศาสดาเลย แต่ด้วยความเกรงใจลูกสะใภ้จึงมา จึงทรงหลั่งพระธรรมเทศนาอันประกอบด้วยเหตุผลแพรวพราวไปด้วยเทศนาโวหารและ อุทาหรณ์ พระองค์ตรัสว่า

“ข้าว เปลือก ทรัพย์ เงินทอง หรือของที่บุคคลหวงแหน อย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งทาส กรรมกร คนใช้ และผู้อาศัยอื่นๆ ทั้งหมดนี้บุคคลนำไปไม่ได้ ต้องทอดทิ้งไว้ทั้งหมด แต่สิ่งที่บุคคลทำด้วยกาย วาจา หรือด้วยใจ นั้นแหละที่จะเป็นของเขา เป็นสิ่งที่เขาต้องนำไปเหมือนเงาตามตัว เพราะฉะนั้นผู้ฉลาดพึงสั่งสมกัลยาณกรรมอันจะนำติดตัวไปสู่สัมปรายภพได้ เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งปวง ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”

พระองค์ตรัสว่าทรงเห็นด้วยกับคำกล่าวของบัณฑิตผู้หนึ่งว่า

“เมื่อ ไฟไหม้บ้าน ภารชนะเครื่องใช้อันใดที่เจ้าของนำออกไปได้ ของนั้นก็เป็นประโยชน์แก่เจ้าของ ที่นำออกไม่ได้ก็ถูกไฟไหม้วอดวายอยู่ ณ ที่นั้นเอง ฉันใด เมื่อโลกนี้ถูกไฟคือความแก่ ความตายไหม้อยู่ ก็ฉันนั้น คือ ผู้ฉลาดย่อมนำออกด้วยการให้ทาน ของที่บุคคลให้แล้วชื่อว่านำออกดีแล้ว มีความสุขเป็นผล ส่วนของที่ยังไม่ได้ให้หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่โจรอาจขโมยเสียบ้าง ไฟอาจจะไหม้เสียบ้าง อีกอย่างหนึ่งเมื่อความตายมาถึงเข้า บุคคลย่อมละทรัพย์สมบัติและแม้สรีระของตนไว้ นำไปไม่ได้เลย

ผู้ มีปัญญารู้ความจริงข้อนี้แล้วพึงบริโภคใช้สอย พึงให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เมื่อได้ให้ ได้บริโภคตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าสู่ฐานะอันประเสริฐ”

พระ พุทธองค์ตรัสต่อไปว่า “ความตระหนี่ลาภ เป็นความโง่เขลา เหมือนชาวนาผู้ไม่ฉลาดไม่ยอมหว่านพันธุ์ข้าวลงในนา เขาเก็บพันธุ์ข้าวปลูกไว้จนเน่าและเสียไม่สามารถจะปลูกได้อีก ข้าวเปลือกที่หว่านลงแล้ว ๑ เมล็ด ย่อมได้ผล ๑ รวง ฉันใด ทานที่บุคคลทำแล้วก็ฉันนั้น ย่อมมีผลมากผลไพศาล การรวบรวมทรัพย์สินไว้โดยมิได้ใช้สอยให้เป็นประโยชน์ ทรัพย์นั้นจะมีคุณแก่ตนอย่างไร เหมือนผู้มีเครื่องประดับอันวิจิตรตระการตา แต่หาได้ประดับไม่ เครื่องประดับนั้นจะมีประโยชน์อะไร รังแต่จะก่อความหนักใจในการเก็บรักษา

“นกชื่อมัยหกะชอบเที่ยวไปตามซอกเขา และที่ต่างๆ มาจับต้นเลียบที่มีผลสุกแล้วร้องว่า “ของกู ของกู” ในขณะที่มันร้องอยู่นั้นเอง หมู่นกเหล่าอื่นมากินผลเลียบตามต้องการแล้วจากไป นกมัยหกะก็ยังคงร้องว่า “ของกู ของกู” อยู่นั่นเอง ข้อนี้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น รวมรวบสะสมทรัพย์ไว้มากมาย แต่ไม่สงเคราะห์ญาติตามที่ควร ทั้งมิได้ใช้สอยเองให้ผาสุก มัวแต่เฝ้ารักษาและภูมิใจว่า “ของเรามี ของเรามี” ดังนี้

เมื่อ เขาประพฤติอยู่เช่นนี้ทรัพย์สมบัติย่อมเสียหายไป ทรุดโทรมไปด้วยเหตุต่างๆ มากมาย เขาก็คงคร่ำครวญอยู่อย่างเดิมนั่นเอง และต้องเสียใจในของที่เสียไปแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ฉลาดหาทรัพย์ได้แล้ว พึงสงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์ มีญาติ เป็นต้น

“ดูก่อนท่านทั้งหลาย” พระศาสดาตรัสต่อไป

“ทรัพย์ ของคนไม่ดีนั้นไม่สู้อำนวยประโยชน์แก่ใคร เหมือนสระโบกขรณีอันตั้งอยู่ในที่ไม่มีมนุษย์ แม้จะใสสะอาดจืดสนิท เย็นดี มีท่าลง สะดวกน่ารื่นรมย์ แต่มหาชนก็หาได้ดื่มได้อาบหรือใช้สอยตามต้องการไม่ น้ำนั้นก็อยู่อย่างไร้ประโยชน์ ทรัพย์ของคนตระหนี่ก็ฉันนั้น ไม่อำนวยประโยชน์สุขแก่ใครๆ เลย รวมทั้งตัวเขาเอง”

“ส่วน คนดีมีทรัพย์แล้ว ย่อมบำรุงมารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ให้เป็นสุข บำรุงสมณพราหมณ์ให้เป็นสุข เปรียบเหมือนสระโบกขรณีอันอยู่ไม่ไกลหมู่บ้านหรือนิคม มีท่าลงเรียบร้อยสะอาดเยือกเย็นน่ารื่นรมย์ มหาชนย่อมได้อาศัยนำไปอาบดื่มและใช้สอยตามต้องการ โภคะของคนดีย่อมเป็นดังนี้ หาหมดไปโดยเปล่าประโยชน์ไม่

“ดู ก่อนท่านทั้งหลาย นักกายกรรมผู้มีกำลังมากหรือนักมวยปล้ำซึ่งมีพลังมหาศาลนั้น ก่อนที่จะได้กำลังมาเขาก็ต้องออกกำลังไปก่อน การ เสียสละนั้น คือการได้มาซึ่งผลอันเลิศในบั้นปลาย ผู้ไม่ยอมเสียสละอะไรย่อมไม่ได้อะไร จงดูเถิดมนุษย์ทั้งหลายรดน้ำต้นไม้ที่โคนแต่ไม้นั้นย่อมให้ผลที่ปลาย ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูความจริงตามธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งเถิด คือแม่น้ำสายใดเป็นแม่น้ำตาย ไม่ไหลไม่ถ่ายเทไปสู่ที่อื่น หยุดนิ่ง ขังอยู่ที่เดียว แม่น้ำสายนั้นย่อมพลันตื้นเขินและสกปรกเน่าเหม็นเพราะสิ่งสกปรกลงมา มิได้ถ่ายเท

นอกจากนี้บริเวณใกล้ๆ แม่น้ำสายนั้นจะหาพืชพันธุ์ธัญญาหารที่สวยสดก็หายาก แต่แม่น้ำสายใดไหลเอื่อยลงสู่ทะเล หรือแตกสาขาออกไปไหลเรื่อยไป มันไม่รู้จักหมดสิ้น คนทั้งหลายด้อาศัย อาบดื่ม และใช้สอยตามปรารถนา มันจะใสสะอาดอยู่เสมอไม่มีวันเหม็นเน่าหรือสกปรกได้เลย พืชพันธุ์ธัญญาหาร ณ บริเวณใกล้เคียงก็เขียวสดสวยงาม”

“บุคคลผู้ตระหนี่ เมื่อได้ทรัพย์แล้วก็เก็บตุนไว้ไม่ถ่ายเทให้ผู้อื่นบ้าง ก็เหมือนแม่น้ำตายไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร ส่วนผู้ไม่ตระหนี่เป็นเหมือนน้ำที่ไหลเอื่อยอยู่เสมอ กระแสไม่ขาด ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นสาธุชนได้ทรัพย์แล้วพึงบำเพ็ญตนเสมือนแม่น้ำซึ่งไหลใสสะอาด ไม่พึงเป็นเช่นแม่น้ำตาย”

“ยัญญสัมปทา หรือ ทาน จะมีผลมากอานิสงส์ไพศาล ถ้าประกอบด้วยองค์ ๖ กล่าวคือ

๑. ก่อนให้ ผู้ให้มีจิตผ่องใส ชื่นบาน
๒. เมื่อกำลังให้ จิตใจก็ผ่องใส
๓. เมื่อให้แล้ว ก็มีความยินดี ไม่เสียดาย
๔. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากราคะ
๕. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโทสะ
๖. ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโมหะ

“ทาน ที่ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล เป็นการยากที่จะกำหนดผลแห่งบุญว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ อันที่จริงเป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ไม่มีประมาณเหลือที่จะกำหนด เหมือนน้ำในมหาสมุทรย่อมกำหนดได้โดยยากว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้”

“ดู ก่อนท่านทั้งหลาย คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นนี้เข้าไปหาตถาคตและถามว่า บุคคลควรจะให้ทานในที่ใด เราตอบว่า ควรให้ในที่ที่เลื่อมใส คือเลื่อมใสบุคคลใด คณะใด ก็ควรให้แก่บุคคลนั้น ในคณะนั้น พระองค์ถามต่อไปว่า ให้ทานในที่ใดจึงจะมีผลมาก เราตถาคตตอบว่า ถ้าต้องการผลมากกันแล้วละก็ ควรจะให้ในท่านผู้มีศีล การให้แก่บุคคลผู้ทุศีล หามีผลมากอย่างนั้นไม่”

“สถานที่ทำบุญเปรียบเหมือนเนื้อนา เจตนาและไทยธรรมของทายกเปรียบเหมือนเมล็ดพืช ถ้าเนื้อนาบุญคือบุคคลผู้รับเป็นคนดีมีศีลธรรมและประกอบด้วยเมล็ดพืช คือเจตนาและไทยธรรมของทายกบริสุทธิ์ ทานนั้นย่อมมีผลมาก การหว่านข้าวลงในนาที่เต็มไปด้วยหญ้าแฝกและหญ้าคา ต้นข้าวย่อมขึ้นได้โดยยากฉันใด การทำบุญในคณะบุคคลผู้มีศีลน้อย มีธรรมน้อยฉันนั้น คือย่อมได้บุญน้อย ส่วนการทำบุญในคณะบุคคลซึ่งมีศีลมีธรรมดีงาม ย่อมจะมีผลมาก เป็นภาวะอันตรงกันข้ามอยู่ดังนี้”

พระศาสนายังพระธรรมเทศนาให้จบลงด้วยปัจฉิมพจน์ว่า

“เพราะ ฉะนั้นบุคคลไม่ควรประมาทว่า บุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล หยาดน้ำไหลลงทีละหยดยังทำให้หม้อน้ำเต็มได้ การสั่งสมบุญหรือบาปแม้ทีละน้อยก็ฉันนั้น ผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ ผู้สั่งสมบาปย่อมเพรียบแปล้ไปด้วยบาป”

พระธรรมเทศนาเป็นเสมือนจุดแสงสว่างให้โพลงขึ้นในดวงใจของเศรษฐี เขาคลานเข้ามาถวายบังคมพระยุคลบาทแห่งพระศาสดา พร้อมด้วยกล่าวสรรเสริญว่า

“แจ่ม แจ้งจริงพระเจ้าข้า แจ่มแจ้งจริงเหมือนทรงหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนที่หลงทาง ส่องประทีปในที่มืดเพื่อให้ผู้มีนัยน์ตาได้มองเห็นรูป ข้าพระพุทธเจ้าขอถึงพระองค์ พร้อมด้วยพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่เคารพสักการะ เป็นแนวทางดำเนินชีวิตตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จวบสิ้นลมปราณ”

ตั้งแต่ บัดนั้นมามิคารเศรษฐ๊ก็รักและนับถือนางวิสาขาในสองฐานะ คือฐานะสะใภ้และฐานะ ”แม่” จึงเรียกนางวิสาขาว่า “แม่ แม่” ทุกคำไป เพราะถือว่านางวิสาขาเป็นผู้จูงให้ท่านเดินเข้าทางถูก จูงออกจากทางรก เมื่อคนทั้งหลายพูดถึงนางวิสาขาก็มักจะเติมสร้อยคำตามมาข้างหลังว่า ”มิคารมารดา”

แม้พระสาวกซึ่งเป็นพระภิกษุเมื่อกล่าวถึง พระผู้มีภาคเจ้าว่าประทับอยู่ที่ปุพพารามก็กล่าวว่า ”บัดนี้พระผู้มีภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของนางวิสาขา มิคารมารดาในปุพพาราม

ด้วย เหตุที่บิดาแห่งสามีเรียกตนว่า “แม่” และคนทั้งหลายพากันเรียกนางว่า “มิคารมารดา” นางวิสาขารู้สึกละอายและกระดาก แต่ไม่ทราบจะทำประการใด เมื่อมีลูกชายในระยะต่อมา จึงตั้งชื่อลูกชายให้เหมือนชื่อปู่ของเด็กว่ามิคาระ เพื่อจะได้แก้ความขวยอายและกันความละอายเมื่อมีผู้เรียกนางว่ามิคารมารดา จะได้หมายถึงมารดาแห่งมิคาระลูกชายของตน

ตั้งแต่มิคา รเศรษฐีเลื่อมใสในพุทธศาสนาแล้ว ประตูบ้านของนางวิสาขาก็เปิดออกสำหรับต้อนรับพระสงฆ์สาวกแห่งพระผู้มีภาค มีเสมอที่นางนิมนต์พระสงฆ์จำนวนร้อย มีพระพุทธองค์เป็นประมุขเพื่อรับภัตตาหารและเสวยที่เรือนของนาง มหาสมุทรย่อมไม่อิ่มด้วยน้ำ บัณฑิตและปราชญ์ย่อมไม่อิ่มด้วยคำสุภาษิต ผู้มีศรัทธาเชื่อกรรมและผลของกรรมย่อมไม่อิ่มด้วยการทำบุญ นางวิสาขาเป็นผู้มีศรัทธา จะให้นางอิ่มด้วยบุญได้ไฉน เพราะฉะนั้นจึงปรากฎว่านางทำบุญ ทำกุศลโดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่าย

ความสุขใจ เป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐสุด ก็ความสุขใจอันใดเล่าที่ผ่องแผ้วสงบและชื่นบาน เหมือนสายน้ำที่กระเซ็นจากหุบผา ก่อความชื่อฉ่ำให้แก่กรัชกาย ฉันใดก็ฉันนั้น

ตลอดเวลาที่พระศาสดาประทับอยู่ที่กรุงสา วัตถีนางจะไปเฝ้าพระองค์วันละ ๒ เวลา คือเวลาเช้าและเวลาเย็น เมื่อไปเวลาเช้าก็ถือยาคูและอาหารอื่นๆ ติดมือไปด้วย เมื่อไปเวลาเย็นก็นำน้ำปานะชนิดต่างๆ ที่ควรแก่สมณบริโภคไป นางไม่เคยไปมือเปล่าเลย ทั้งภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาต่างก็พร้อมใจกันเรียกนางว่า “มหาอุบาสิกา” เพื่อเป็นเกียรติยศแก่นางผู้มีใจประเสริฐ

คราว หนึ่งนางกลับจากงานมงคลในกรุงสาวัตถี ข้าพเจ้าลืมเล่าท่านไปว่า งานมงคลทุกงานในกรุงสาวัตถีเจ้าของงานจะถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ถ้านาง วิสาขาได้ไปร่วมงานด้วย เพราะฉะนั้นเขาจะเชิญนางแทบจะทุกงาน การไปของนางวิสาขาถือกันว่าเป็นการนำมงคลมาสู่บ้านสู่งานนี่แหละท่านพระ ศาสดาจึงตรัสว่า “เกียรติย่อมไม่ละผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้”

เมื่อไปงานมงคลนางก็จะต้องสวมเครื่องประดับมหาลดา ปสาธน์อันสวยงามและเลิศค่า กลับจากงานแล้วนางต้องการจะแวะไปเฝ้าพระศาสดา แต่เห็นว่าไม่ควรจะสวมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์เข้าไป จึงถอดแล้วห่อให้หญิงคนใช้ถือไว้ เมื่อเฝ้าพระศาสดาพอสมควรแก่เวลาแล้ว นางก็ถวายบังคมลากลับออกมาถึงหน้าวัดเชตวัน นางจึงเรียกเครื่องประดับนั้นจากหญิงคนใช้เพื่อจะสวม แต่ปรากฎว่าหญิงคนใช้ลืมไว้ ณ ที่ประทับของพระศาสดานั่นเอง พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ข้าพเจ้าเก็บไว้ เพื่อนางมาในวันรุ่งขึ้นจะได้ส่งคืน สักครู่หนึ่งหญิงรับใช้กลับมาเพื่อจะรับคืน ข้าพเจ้าจึงนำห่อเครื่องประดับนั้นมาจะมอบให้ หญิงคนใช้มีท่าทางตื่นตกใจอย่างมาก

“นี่เครื่องประดับของนายเธอรับไปเถิด” ข้าพเจ้าพูดพร้อมด้วยวางของลง

“ข้า แต่พระคุณเจ้า” นางคุกเข่าอยู่เบื้องหน้าของข้าพเจ้าด้วยเสียงสั่นเครือ มีอาการเหมือนจะร้องไห้ “แม่นายสั่งว่า ถ้าพระคุณเจ้าจับต้องและเก็บเครื่องประดับไว้แล้วก็ไม่ต้องรับคืน แม่นายบอกว่า พระคุณเจ้าเป็นที่เคารพของแม่นายอย่างยิ่ง แม่นายไม่สมควรจะสวมเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าจับต้องแล้ว เพราะฉะนั้นข้าพเจ้ารับคืนไปไม่ได้ดอก”

“น้องหญิง” ข้าพเจ้าพูด “เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้มีค่ามาก นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องประดับของสตรี ไม่สมควรที่สมณะจะเก็บไว้ อาตมาจะเอาไว้ทำอะไร จงรับคืนไปเถิด และบอกนางว่าอาตมาให้รับคืนไป น้องหญิงทำตามขอร้องของอาตมา นายของเธอคงไม่ว่ากระไรดอก”

“แม่นายสั่งไว้ว่าให้ถวายพระคุณเจ้า”

“อาตมาจะเอาไว้ทำอะไร”

หญิง คนใช้จำใจต้องรับเครื่องประดับคืนไป นางเดินร้องไห้ไปพลางเพราะเกรงจะถูกลงโทษ นางวิสาขาเห็นหญิงคนใช้เดินร้องไห้กลับมาพร้อมด้วยห่อของ นางก็คาดเหตุการณ์ได้โดยตลอด จึงกล่าวว่า

“พระคุณเจ้าอานนท์เก็บไว้หรือ”

“เจ้าค่ะ”

“แล้วเธอร้องไห้ทำไม”

“ข้า เสียใจที่รักษาของแม่นายไว้ไม่ได้ แม่นายจะลงโทษข้าประการใดก็ตามเถิด ข้ายอมรับผิดทุกประการ เครื่องประดับนี้มีค่ายิ่งกว่าชีวิตข้า มิใช่เพียงแต่ชีวิตของข้าเท่านั้น แต่มีค่ายิ่งกว่าชีวิตครอบครัวและญาติๆ ของข้าทั้งหมดรวมกัน” ว่าแล้วนางก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นกลิ้งเกลือกอยู่แทบเท้าของนางวิสาขา

เวลานั้นเย็นมากแล้ว พระอาทิตย์โคจรลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกไปแล้ว แต่ความมืดยังไม่ปรากฎในทันที ท้องฟ้าระบายด้วยแสงสีม่วงสลับฟ้าในบางที่ และสีเหลืองอ่อนสลับฟ้าในบางแห่ง กลุ่มเมฆลอยเลื่อนตามแรงลมและปลิวกระจายเป็นครั้งคราว มองดูเป็นรูปต่างๆ สลับสล้างสวยงามน่าพึงชม ลมเย็นพัดเฉื่อยฉิว สไบน้อยผืนบางของวิสาขาพลิ้วกระพือตามแรงลม ผมอันงอนงามฟูสยายของนางไหวพลิ้วปลิวกระจาย ใบหน้าซึ่งเอิบอิ่มอยู่แล้วยิ่งเพิ่มความอิ่มเอิบมากขึ้น ประดุจศศิธรในวันบูรณมีดิถี มีรัศมียองใยเป็นเงินยวง และถูกแวดวงด้วยกลุ่มเมฆ เสียงชะนีซึ่งอาศัยอยู่ในแนวป่าใกล้วัดเชตวัน กู่ก้องโหยหวนปานประหนึ่งสัญญาณว่าทิวากาลจะสิ้นสุดลงแล้ว หมู่เด็กเลี้ยงแกะและเลี้ยงโคเดินดุ่มต้อนฝูงแกะและฝูงโคของตนเข้าสู่คอก อชบาลและโคบาลเหล่านั้น ล้วนมีกิริยาร่าเริงเช่นเดียวกันกับสกุณาทั้งหลายซึ่งกำลังโบยบินกลับสู่รวง รัง

นางวิสาขายืนสงบนิ่ง กระแสความรู้สึกของนางไหลเวียนเหมือนสายน้ำในวังวน นางคิดถึงชีวิตทาส อนิจจา ชีวิตทาสช่างลำบากและกังวลเสียนี่กระไร รับใช้ใกล้ชิดเกินไปก็หาว่าประจบสอพลอ เหินห่างไปหน่อยเขาก็หาว่าทอดทิ้งธุระของนาย พูดเสียงค่อยเขาก็ว่าไม่เต็มใจตอบ พูดเสียงดังไปหน่อยเขาก็ว่ากระโชกโฮกฮาก ใครเล่าจะสามารถรับใช้นายได้อย่างสมบูรณ์ ชีวิตทาสเป็นชีวิตที่ลำเค็ญเหนื่อยยาก

ทั้ง ๆ ที่เป็นอย่างนี้คนทาสส่วนมากก็เป็นคนซื่อสัตย์ เสียสละและกตัญญู เสรีชนด้วยซ้ำไปที่ส่วนมากคอยแต่ตลบตะแลง เอารัดเอาเปรียบและคดโกง มีตัวอย่างที่หาได้ง่ายสำหรับทาสซึ่งซื่อสัตย์กตัญญูและเสียสละต่อนายของตน แต่สำหรับนายแล้วหาได้ยากเหลือเกินที่จะเพียงแต่สละเพื่อทาสเท่านั้น อย่าพูดถึงความซื่อตรงเลย นายส่วนมากมักจะใช้ทาสไม่เป็นเวลา ใช้วาจาหว่านล้อมให้ทาสหวังอย่างลมๆ แล้งๆ เหนียวบำเหน็จ ทำความผิดน้อยเป็นผิดมาก ส่วนความดีความชอบนั้นมิค่อยจะได้พูดถึง

“หญิง คนใช้ของเรานี้” นางวิสาขาคิดต่อไป “เพียงแต่ลืมเครื่องประดับไว้และนำคืนมาได้ มิใช่ทำของเสียหายอย่างใด ยังยอมเอาชีวิตของตนมาไถ่ถอนความผิด เราจำจะต้องปลอบนางให้หายโศก และบำรุงหัวใจนางด้วยคำหวาน เพราะโบราณคัมภีร์กล่าวไว้ว่า แสงจันทร์ก็เย็น กลิ่นไม้จันทน์ก็เย็น แต่ความเย็นทั้งสองประการนั้นรวมกันแล้ว ยังไม่เท่าความเย็นแห่งมธุรสวาจา อนึ่ง การแสดงความรักใคร่แม้แก่บุคคลที่มิได้รับใช้ตน เอื้ออารีกว้างขวางเพิ่มความรักให้ระลึกถึงความดีแต่เก่าก่อน ให้อภัยในความผิดพลาด เหล่านี้เป็นลักษณะของผู้มีใจกรุณา”

และแล้วนางวิสาขาก็กล่าวว่า

“สุ สิมา ลุกขึ้นเถิด อย่าคร่ำครวญนักเลย ข้อที่เธอลืมเครื่องประดับไว้นั้นเรามิได้ถือเป็นความผิดประการใด เราเองยังลืมได้ ทำไมเธอจะลืมบ้างไม่ได้ เครื่องประดับนี้มีค่าก็จริง แต่ก็หามีค่าเท่าชีวิตของเธอไม่ เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ ถ้าหายหรือเสียไปเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งเราก็ทำใหม่ได้ แต่ชีวิตของเธอถ้าเสียไปจะทำใหม่ได้ที่ไหน ดูก่อนนางผู้ซื่อสัตย์ การที่เธอจะไถ่ถอนเครื่องประดับนี้ด้วยชีวิตของเธอนั้น ซึ่งใจเรายิ่งนัก เธอจงเบาใจเถิด พระธรรมของพระศาสดาได้ชุบย้อมจิตใจของเราให้มองเห็นชีวิตมนุษย์และแม้สัตว์ ทั่วไปให้มองเห็นชีวิตมนุษย์และแม้สัตว์ทั่วไปเป็นสิ่งมีคุณค่าสูง ไม่อาจจะนำสิ่งของภายนอกมาเทียบได้ อนึ่ง เธอเป็นที่รักเป็นที่ไว้ใจของเรา เป็นผู้ทำงานดี ซื่อตรงทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีความจงรักนายของตนไม่เสื่อมคลายและปรวนแปร ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดเรา ความดีของเธอนั้นมีอยู่มาก ความพลั้งเผลอบกพร่องเพียงเท่านี้จะลบล้างความดีของเธอได้ไฉน”

เมื่อนางวิสาขากล่าวจบ หญิงรับใช้ยิ่งคร่ำครวญหนักขึ้น เธอกอดเท้าทั้งสองของนายและใช้ใบหน้าคลอเคลียอยู่ด้วยความรักและกตัญญู และแล้วเมื่อนางวิสาขาดึงมือนางให้ลุกขึ้น นางก็ยิ้มทั้งน้ำตามองดูนายของตนด้วยแววตาที่เหมือนเปิดลิ้นชักหัวใจให้เห็น ได้หมดสิ้น ประดุจแววตาแห่งสัตว์เลี้ยงเป็นต้นว่าสุนัขอันแสดงออกยามเมื่อได้รับอาหาร จากนายของมัน

มีอยู่เหมือนกันมิใช่หรือที่มนุษย์เราต้อง หัวเราะหรือยิ้มทั้งน้ำตา ทั้งนี้เพราะความเสียใจและดีใจประดังกันเข้ามาในระยะกระชั้นชิด เมื่อความเสียใจยังไม่ทันหายไปความดีใจก็เคลื่อนเข้ามาจนผู้นั้นตั้งตัวไม่ ทัน ภาพที่บุคคลยิ้มทั้งน้ำตานั้นเป็นภาพที่ค่อนข้างจะน่าดูพอใช้ อุปมาเหมือนฝนซึ่งโปรยลงมาและยังไม่หาย แดดก็แผดจ้าออกมาในขณะนั้น เป็นภาพซึ่งนานๆ เราจะเห็นสักครั้งหนึ่ง

คืนนั้นนางวิสาขา มหาอุบาสิกาต้องใช้ความคิดอย่างหนักว่า จะทำอย่างไรกับเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้น เรื่องนำมาใช้อีกนางไม่สามารถทำได้ จะเก็บไว้เฉยๆ ก็ดูจะเสียประโยชน์ไป นางจึงตัดสินใจว่ารุ่งขึ้นจะลองบอกขาย ถ้าได้ทรัพย์มาจำนวนตามราคาอันเหมาะแห่งเครื่องประดับแล้ว ก็จะนำมาทำบุญทำกุศลตามต้องการ แต่ปรากฏว่าในเมืองสาวัตถีไม่มีใครสามารถซื้อได้

พูดถึงคน มีเงินพอซื้อได้นั้นน่าจะพอมี แต่คงจะไม่มีใครกล้านำเครื่องประดับของนางวิสาขา ซึ่งเป็นที่เคารพของคนทั้งเมืองมาประดับตกแต่งได้ ถ้าผู้ใดทำเข้าแทนที่จะได้รับการยกย่องชมเชย กลับจะกลายเป็นถูกเยาะเย้ยหยามหยันไป นางวิสาขาจึงตกลงใจซื้อของตนเองด้วยราคา ๙ โกฎิ หรือ ๙๐ ล้านบาท แล้วนำเงินจำนวนนั้นทั้งหมดไปสร้างอารามให้ชื่อว่า “ปุพพาราม” เพราะอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งพระนครสาวัตถี การสร้างปุพพารามเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๒๗ โกฎิ คือซื้อที่ดิน ๙ โกฎิ สร้างกุฎิวิหาร ๙ โกฎิ และเสียในการฉลองอีก ๙ โกฎิ

เมื่อ นางกำลังเตรียมสร้างอารามนั่นเอง พระผู้มีภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะเสด็จสู่ภัททยนคร ดังนั้นวันหนึ่งเมื่อเสวยที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกะแล้ว ก็บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ขอแจ้งรายละเอียดในเรื่องนี้เล็กน้อย คือตามปกติ พระศาสดาเมื่อเสวยที่บ้านของนางวิสาขาเสร็จแล้วจะเสด็จออกทางประตูทักษิณและ เสด็จสู่วัดเชตวัน ถ้ารับภิกขาที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกะ เมื่อเสร็จแล้วจะเสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก และประทับ ณ ปุพพารามของนางวิสาขา แต่ถ้าคราวใดที่พระพุทธองค์เสวยที่บ้านของอนาถบิณฑิกะแล้วเสด็จออกทางประตู ทิศอุดรก็เป็นที่ทราบกันว่า พระองค์ทรงประสงค์จะเสด็จจาริกในที่อื่น ซึ่งนานๆ จะมีสักครั้ง

ณ ปุพพารามของนางวิสาขานนี้เอง มีเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงถึงพุทธจริยาอันประเสริฐ คือวันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น แล้วประทับ ณ ภายนอกซุ้มประตู ครั้งนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาเฝ้า เมื่อพระองค์ประทับ ณ ที่สมควร และสนทนากับพระศาสดาเป็นสาราณียะอยู่นั่นเอง มีนักบวชหลายนิกาย กล่าวคือนิครนถ์ ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน อเจลกะ ๗ คน ปริพพาชก ๗ คน และ ชฎิลอีก ๗ คน รวม ๓๕ คน ซึ่งล้วนมีเครายาว มีขนรักแร้ยาว ถือบริขารต่างๆ เดินผ่านมา

พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นนักบวช เหล่านั้น คุกพระชานุข้างหนึ่งลง ทำผ้าห่มเฉลียงบ่าพลางประกาศนามและโคตรของพระองค์ว่า “ข้าแต่ท่านักพรตผู้ประเสริฐ ข้าพเจ้าคือพระเจ้าปเสนทิโกศล” ดังนี้ ๓ ครั้งเป็นการแสดงความคารวะอย่างสูง นักบวชเหล่านั้นหยุดครู่หนึ่งแล้วเดินเลยไป พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงหันมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระจอมมุนี นักบวชเหล่านั้นคงเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งซึ่งมีอยู่ปรากฏอยู่ในโลกเป็นแน่ แท้”

พระสุคตเจ้ามีพระอาการสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะ ตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสน์ยังบริโภคกาม บรรทมเบียดโอรสและชายา ทรงผ้าที่มาจากแคว้นกาสี ทัดทรงของหอม ลูกไล้ด้วยจุณจันทน์ จึงเป็นการยากที่จะรู้ได้ว่า นักบวชเหล่านั้นเป็นอรหันต์หรือไม่ มหาบพิตร ปกติ ของคนเป็นอย่างไร อาจรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และต้องอยู่ร่วมกันนานๆ ต้องใส่ใจและมีปัญญาสอดส่องกำกับไปด้วย ปัญญาของคนพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ความสะอาดของคนพึงรู้ได้ด้วยการงาน ความกล้าหาญและเรี่ยวแรงรู้ได้ในเวลามีอันตราย ทั้งหมดนี้ต้องใช้เหตุ ๓ อย่างประกอบคือ กาลเวลา ปัญญา และโยนิโสมนสิการ

พระ ผู้มีพระภาคทรงตอบอย่างบัวไม่ให้ช้ำน้ำมิให้ขุ่น ถ้าพระองค์จะตรัสตรงๆ ว่านักบวชเหล่านั้นมิได้เป็นอรหันต์ดอก ที่แท้ยังเป็นผู้ชุ่มไปด้วยกิเลส ก็จะเป็นการยกตนข่มผู้อื่น ถ้าพระองค์จะทรงรับรองว่านักบวชเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็จะพึงดูแคลนพระสัพพัญญุตญาณได้

เมื่อ พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกราบทูลว่า อัศจรรย์จริงพระเจ้าข้า อัศจรรย์จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นสัพพัญญูโดยแท้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ ความจริงนักบวชเหล่านั้นคือจารบุรุษซึ่งข้าพระองค์ส่งไปสอดแนมเหตุการณ์บ้าน เมือง ณ แคว้นต่างๆ เมื่อถึงบ้านแล้วบุรุษเหล่านั้นย่อมลูบไล้ด้วยของหอม นอนเบียดบุตรและภรรยา พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕

พระสุคตเจ้าทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า

“บุคคลไม่ควรพยายามไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ควรเป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ และไม่พึงมีแผลประพฤติธรรม

บุคคล จะชื่อว่าเป็นคนดีด้วยเหตุเพียงรูปร่างผิวพรรณก็หามิได้ ไม่ควรไว้ใจคนที่เห็นกันเพียงครู่เดียว คนชั่วเป็นอันมากเที่ยวไปโดยรูปลักษณะแห่งคนดีเหมือนหม้อดินและหม้อโลหะซึ่ง ฉาบไว้ด้วยสุวรรณ มองแวววาวแต่เพียงภายนอก แต่ภายในไม่สะอาด คนชั่วในโลกนี้เมื่อบริวารแวดล้อมแล้วก็เที่ยวไปได้อย่างคนดี เขางามแต่ภายนอก แต่ภายในไม่บริสุทธิ์”


ท่าน จะเห็นว่าพระพุทธภาษิตเหล่านี้คมคายเพียงไร เป็นพระดำรัสที่ถ้าจะมองว่าลึกซึ้งก็ลึกซึ้ง ถ้าจะมองว่าสามัญชนทั่วไปพอจะเข้าใจและปฏิบัติตามได้ก็ได้เช่นกัน

ตอนแรกพระพุทธองค์ทรงย้ำว่า บุคคลไม่ควรพยายามไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง นั้นหมายความว่า ก่อนจะใช้ความพยายามในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ควรจะสำรวจเสียให้ดีก่อนว่า ความพยายามที่ทำไปนั้นจะได้ผลคุ้มค่าเหนื่อยหรือไม่ อุปมาเหมือนนักสำรวจทอง ก่อนที่จะลงมือขุดก็ควรจะใช้เครื่องมือสำรวจเสียก่อนว่าที่ที่ตนจะขุดนั้นมี ทองอยู่หรือไม่ มิใช่ว่าพอจะขุดทองก็เริ่มขุดไปแต่บันไดบ้านทีเดียว ถ้าทำอย่างนั้นก็เป็นการเสียแรงเปล่า ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เป็นการลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย

ส่วนเรื่องเป็นตัวของตัวเอง ก็มีความสำคัญมาก มนุษย์จะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด แต่ขอให้เป็นตัวของตัวเอง คนที่ไม่เป็นตัวของตัวเองเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้

ส่วน ข้อที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้เป็นคนเลี้ยงตัวได้ ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพนั้น หมายความว่า บุคคลเมื่อมีอายุพอสมควรจะเลี้ยงตัวได้แล้วก็ควรประกอบอาชีพอย่างใดอย่าง หนึ่งเลี้ยงตน มิใช่คอยแต่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่อย่างเดียว เพราะการอาศัยผู้อื่นในวันที่ไม่ควรอาศัยเป็นการแสดงถึงความเป็นผู้ไร้ความ สามารถ ส่วนสมณะผู้อาศัยอาหารจากเรือนของผู้อื่นแล้วยังชีพให้เป็นไปนั้น ก็เป็นเพราะสมณะเหล่านั้นอาศัยศีลของตน ถ้าประชาชนรู้ว่าเป็นผู้ไม่มีศีลไม่มีกัลยาณธรรม เขาย่อมไม่เลี้ยง ไม่ถวายอาหาร เพราะฉะนั้น สมณะก็ชื่อว่าเป็นผู้พึ่งตนเองกล่าวคือ อาศัยศีลและสัมมาจารของตนเป็นอยู่

ข้อต่อมาที่พระพุทธองค์ ตรัสว่า บุคคลไม่ควรมีแผลประพฤติธรรมนั้นหมายความว่า ให้ประพฤติธรรมด้วยความสุจริตใจ มิใช่ประพฤติธรรมด้วยเจตนาที่จะหลอกลวงให้คนมานับถือ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโปรดพระพุทธบิดา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ว่า ควรประพฤติธรรมให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมให้ทุจริต ผู้ประพฤติสุจริตย่อมมีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า นอกจากนี้พระพุทธองค์เคยตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายอยู่เสมอ ในเรื่องนี้ และทรงแนะให้ถือพระองค์เป็นเนติ ดังพระพุทธภาษิตต่อไปนี้

“ภิกษุ ทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนทั้งหลายมานับถือ มิใช่เพื่อให้อานิสงส์สักการะและความสรรเสริญ มิใช่จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเจ้าลัทธิและแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ มิใช่เพื่อให้ใครรู้จักตัวว่าเป็นอย่างนี้ ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวระ คือความสำรวม เพื่อปานะ คือความละ เพื่อวิราคะ คือความคลายกำหนัดยินดี และเพื่อนิโรธะ คือความดับทุกข์”

ในตอนท้ายพระพุทธองค์ทรงย้ำว่า บุคคลจะเป็นคนดีเพราะชาติหรือผิวพรรณก็หามิได้ แต่จะเป็นคนดีก็เพราะความประพฤติดี คนชั่วเป็นอันมากปกปิดความชั่วของตัวไว้ เหมือนหม้อดินที่ฉาบทาด้วยทองแวววาวแต่เพียงภายนอกเท่านั้น ไม่แสดงอาการลวงผู้อื่นให้หลงเข้าใจผิดหรือหลงเคารพนับถือทั้งๆ ที่ตนเองเป็นคนเลว

ขอวกกล่าวถึงเรื่องของนางวิสาขาต่อไป วันหนึ่งนางวิสาขามีผ้าเปียกปอนผมเปียก เดินร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ เมื่อพระตถาคตถามก็ได้ความว่า นางวิสาขาเสียใจเพราะหลานสาวอันเป็นที่รักคนหนึ่งตายลง นางรักเธอมากเพราะเธอเป็นคนดี ช่วยงานทุกอย่าง รวมทั้งงานที่เกี่ยวกับการบุญการกุศลด้วย

“ข้าแต่พระผู้ เป็นดวงตาของโลก” นางวิสาขาทูล “ข้าพระพุทธเจ้าเสียใจในมรณกรรมของหลานสาวคนนี้เหลือเกิน เธอเป็นคนดีอย่างจะหาใครเสมอเหมือนได้ยาก”

พระตถาคตเจ้าทรงดุษณีอยู่ครู่หนึ่งแล้วเอื้อนพระโอษฐ์ว่า
“ดูก่อนวิสาขา คนในเมืองสาวัตถีนี้มีประมาณเท่าใด”
“มีหลายสิบล้านพระพุทธเจ้าข้า” นางตอบ
“ถ้าคนเหล่านั้นดีเช่นสุทัตตีหลานของเธอ เธอจะรักเขาเหล่านั้นหรือไม่”
“รักพระเจ้าข้า”
“แล้วคนในเมืองสาวัตถีนี้ตายวันละเท่าไร”
“วันหนึ่งหลายๆ คนพระเจ้าข้า”
“ดู ก่อนวิสาขา ถ้าอย่างนั้นเธอก็ต้องมีผมเปียกมีผ้าเปียกอยู่อย่างนี้ทุกวันละซี เธอต้องร้องไห้คร่ำครวญมีใบหน้าอาบน้ำตาอยู่เสมอ เพราะมีคนตายกันอยู่ทุกวัน วิสาขาเอย ตถาคตกล่าวว่า ความ รักความอาลัยเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ เพราะฉะนั้นคนมีรักมากเท่าใดย่อมมีทุกข์มากเท่านั้น รักหนึ่งมีทุกข์หนึ่ง มีรักสิบมีทุกข์สิบ มีรักร้อยมีทุกข์ร้อย ความทุกข์ย่อมเพิ่มขึ้นตามปริมาณแห่งความรัก เหมือนไฟย่อมเพิ่มขึ้นตามจำนวนเชื้อที่เพิ่มขึ้น

นาง วิสาขาได้ฟังพระพุทธโอวาทแล้วสร่างความโศกลงไปได้บ้าง นางเป็นโสดาบันก็จริงอยู่ แต่พระโสดาบันนั้นเพียงทำให้บริบูรณ์ในศีลเท่านั้น หามีสมาธิและปัญญาสมบูรณ์ไม่ จึงมีบางครั้งมีเผลอสติไป แสดงอาการเยี่ยงชนทั้งหลาย พระอรหันต์เท่านั้นที่สติสมบูรณ์

สิ่ง อันเป็นที่รักย่อมทำให้จิตใจกระเพื่อมและกระทบกระเทือนอยู่เสมอ เมื่อความรักเกิดขึ้น ความราบเรียบของดวงใจย่อมปลาสนาการไป ยิ่งความรักอันเจือด้วยนันทิราคะด้วยแล้ว ยิ่งทำให้จิตใจอ่อนไหวและเสียสมาธิเป็นที่สุด ความรักนั้นเปรียบด้วยพายุ เมื่อมีพายุพัดผ่านความราบเรียบของน้ำก็หมดไป เหลือไว้แต่รอยกระแทกกระทั้นกระทบกระเทือนอยู่ตลอดเวลา มนุษย์จะมีความสุขอย่างสงบประณีต ถ้าเราสามารถทำใจให้ยินดีรับความขมขื่นและไม่เพลิดเพลินในความชื่นสุขให้มาก นัก อย่างน้อยก็ทำใจให้ปฏิเสธความขมขื่นที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว

นางวิสาขาได้ฟังพระพุทธโอวาทแล้วสร่างความโศกลงไปได้บ้าง นางเป็นโสดาบันก็จริงอยู่ แต่พระโสดาบันนั้นเพียงทำให้บริบูรณ์ในศีลเท่านั้น หามีสมาธิและปัญญาสมบูรณ์ไม่ จึงมีบางครั้งมีเผลอสติไป แสดงอาการเยี่ยงชนทั้งหลาย พระอรหันต์เท่านั้นที่สติสมบูรณ์

สิ่ง อันเป็นที่รักย่อมทำให้จิตใจกระเพื่อมและกระทบกระเทือนอยู่เสมอ เมื่อความรักเกิดขึ้น ความราบเรียบของดวงใจย่อมปลาสนาการไป ยิ่งความรักอันเจือด้วยนันทิราคะด้วยแล้ว ยิ่งทำให้จิตใจอ่อนไหวและเสียสมาธิเป็นที่สุด ความรักนั้นเปรียบด้วยพายุ เมื่อมีพายุพัดผ่านความราบเรียบของน้ำก็หมดไป เหลือไว้แต่รอยกระแทกกระทั้นกระทบกระเทือนอยู่ตลอดเวลา มนุษย์จะมีความสุขอย่างสงบประณีต ถ้าเราสามารถทำใจให้ยินดีรับความขมขื่นและไม่เพลิดเพลินในความชื่นสุขให้มาก นัก อย่างน้อยก็ทำใจให้ปฏิเสธความขมขื่นที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว

นางวิสาขามีสหายที่รักมากอยู่ ๒ คน คือนางสุปปิยา และนางสุปปวาสา เมื่อฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วเธอทั้งสามมักจะเที่ยวเดินเยี่ยมภิกษุทั้งหลาย ถามถึงสิ่งที่ต้องการและยังขาด เมื่อภิกษุรูปใดบอกว่าต้องการอะไร นางจะจัดถวายเสมอ นอกจากนี้ยังได้ถวายอาหารสำหรับภิกษุป่วยและผู้เตรียมจะเดินทางเป็นประจำอีก ด้วย

วันหนึ่งนางสุปปิยาเดินเยี่ยมภิกษุอย่างเคยไปถึงกุฏิ ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งป่วยอยู่ เมื่อนางถามถึงความต้องการว่าท่านปรารถนาสิ่งใดบ้าง ภิกษุรูปนั้นบอกว่าอยากได้น้ำต้มเนื้อ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาตน้ำข้าวและน้ำเนื้อต้มซึ่งกรองดีแล้ว ไม่มีเมล็ดข้าวหรือกากเนื้อติดอยู่เพื่อภิกษุอาพาธ เธอสามาถฉันได้แม้ในเวลาวิกาล คือหลังเที่ยงวัน

นางสุปปิยาดีใจเหลือเกินที่จะได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุอาพาธ พระพุทธภาษิตก้องอยู่ในโสตของนางนานแล้ว “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดปรารถนาจะบำรุงตถาคต ขอให้ผู้นั้นบำรุงภิกษุไข้เถิด” แต่บังเอิญวันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ นางหาเนื้อไม่ได้เลย จึงเข้าห้องตัดสินใจตัดเนื้อขาของตนด้วยมีดอันคมกริบ สั่งให้คนใช้จัดการต้ม แล้วขอให้นำน้ำเนื้อต้มนั้นไปถวายภิกษุชื่อโน้นซึ่งอาพาธอยู่ แล้วใช้ผ้าพันแผลที่ขาของตน นอนซมเป็นไข้เพราะพิษบาดแผลนั้น

สามี ของนางสุปปิยากลับมาไม่เห็นภรรยาอย่างเคยจึงถามคนใช้ทราบว่านางป่วยจึงเข้า ไปเยี่ยมในห้องนอน เมื่อทราบเรื่องโดยตลอดแล้วแทนที่จะโกรธพระและภรรยา กลับแสดงความชื่นชมโสมนัสที่ภรรยาของตนมีศรัทธาแรงกล้าในศาสนา ถึงกับยอมสละเนื้อขาเพื่อต้มเอาน้ำถวายภิกษุอาพาธ จึงรีบไปสู่วัดเชตวัน ทูลอาราธนาพระศาสดาและภิกษุสงฆ์เพื่อรับภัตตาหารที่บ้านตนในวันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงรับด้วยอาการดุษณี

วันรุ่งขึ้นพระพุทธองค์มี พระสงฆ์เป็นบริวารจำนวนมากเสด็จสู่บ้านของนางสุปปิยา เมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นนางสุปปิยาจึงถามสุปปิยะอุบาสกผู้สามี ทราบแล้วจึงรับสั่งให้คนช่วยกันพยุงคลอเคลียนางสุปปิยาเข้าเฝ้า เมื่อนางถวายบังคมพระตถาคตเจ้าตรัสว่า “จงมีความสุขเถิดอุบาสิกา” เท่านั้น แผลใหญ่ที่ขาของนางก็หายสนิท และมีผิวผ่องยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

เรื่องนี้เป็นเพราะพุทธา นุภาพโดยแท้ พุทธานุภาพนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและเป็นได้จริง พระจอมมุนีศาสดาแห่งพวกเรานั้นเป็นผู้มีบารมีอันทรงกระทำมาแล้วอย่างมากล้น เคยตัดศีรษะอันประดับแล้วด้วยมงกุฎที่เพริศพราย เคยควักนัยน์ตาซึ่งดำเหมือนตาเนื้อทราย เคยสละเลือดเนื้อและอวัยวะมากหลายตลอดถึงบุตรภรรยาเพื่อเป็นทานแก่ผู้ต้อง การ จะกล่าวไปไยถึงการสละทรัพย์สมบัติภายนอก มหาบริจาคทั้งหลายที่พระองค์ทรงกระทำมาทั้งหมดนั้น โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวคืออนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ กล่าวคือความรู้อันเป็นเหตุให้กิเลสสิ้นไปโดยชอบอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรเทียมถึง เพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์ขอเวไนยนิกรทั้งหลายทั้งทางกายและทางใจ ก็ความรู้อันใดเล่าในโลกนี้จะประเสริฐยิ่งไปกว่าความรู้อันเป็นเหตุให้กิเลส สิ้นไป เพราะเป็นการดับความกระวนกระวายทั้งมวล เหมือนคนหายโรคไม่ต้องกินยา

บุคคลผู้เปี่ยมล้นด้วยบารมี นั้นย่อมเป็นผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พระศาสดาเป็นผู้มีพระบารมีธรรมที่ได้สั่งสอนมานานตลอดเวลาที่ท่องเที่ยวอยู่ ในสังสารวัฏ เมื่อพระองค์จะทรงอยู่ในชาตินี้เป็นปัจฉิมชาติและในปัจฉิมภพแล้ว บารมีธรรมทั้งมวลหลั่งไหลมาให้ผลในชาติเดียว ท่านลองคิดดูเถิดจะคณนาได้อย่างไร อุปมาเหมือนน้ำซึ่งหลั่งจากยอดเขาและถูกกักไว้ด้วยทำนบอันหนาแน่นจนเต็ม เปี่ยมแล้วและบังเอิญทำนบนั้นพังลง น้ำมันจะไหลหลากท่วมท้นเพียงใด

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยพระกระยาหารเสร็จเรียบ ร้อยแล้ว จึงทรงอนุโมทนาให้นางสุปปิยาและสุปปิยะอุบาสกสมาทานอาจหาญร่าเริงในกุศล จริยาสัมมาปฏิบัติเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะ แล้วก็เสด็จกลับสู่วัดเชตวัน ทรงให้ประชุมสงฆ์และตรัสถามภิกษุอาพาธรูปนั้นว่า

“ดูก่อนภิกษุ เธอขอน้ำเนื้อต้มจากอุบาสิกาสุปปิยาหรือ”
“อย่างนั้น พระเจ้าข้า” พระรูปนั้นตอบ
“เมื่อเธอฉัน เธอพิจารณาหรือเปล่า”
“มิได้พิจารณาเลย พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนภิกษุ เธอได้ฉันเนื้อมนุษย์แล้ว เธอทำสิ่งที่น่าติเตียน”

ตรัสดังนี้แล้วทรงตำหนิภิกษุนั้นอีกเป็นอเนกปริยาย แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

“ภิกษุ ใดฉันเนื้อโดยมิได้พิจารณา ภิกษุนั้นเป็นอาบัติทุกกฎ ถ้าเนื้อนั้นเป็นเนื้อมนุษย์ เธอต้องอาบัติถุลลัจจัย ดังนี้”

(อาบัติ คือ โทษที่เกิดจากการละเมิดสิกขาบท อาบัติ ๗ เรียงจากหนักไปหาเบา คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต)


มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงถึงพุทธานุภาพอันน่าพิศวงแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่นคือเรื่องนางสุปปวาสา โกลิยธิดา นางมีครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี และเมื่อจะคลอดบุตรก็ปวดครรภ์อยู่ตั้ง ๗ วัน ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส นางครวญครางด้วยความเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากนางมีศรัทธาเลื่อมใสมั่นคงในพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อรู้สึกว่าชีวิตของตัวอยู่ในระหว่างอันตราย เหมือนศิลาที่แขวนอยู่ด้วยเส้นด้ายเส้นน้อยๆ จึงขอร้องให้สามีให้ไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า และกราบพระยุคลบาทแล้วให้ทูลว่า

“ข้า แต่พระมหาสมณะ บัดนี้นางสุปปวาสา โกลิยธิดา มีครรภ์มา ๗ ปีและปวดครรภ์อยู่ ๗ วันแล้ว นางได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสอันตรายแห่งชีวิตอาจมาถึงนางในไม่ช้า นางระลึกถึงพระผู้มีพระภาค และขอถวายบังคมพระบาทด้วยเศียรเกล้า”

สามี ของนางได้ไปเฝ้าพระพุทธองค์และกราบทูลให้ทรงทราบตามคำของนางนั้น พระผู้เป็นนาถะของโลกทราบแล้วจึงตรัสว่า “ขอนางสุปปวาสา โกลิยธิดา จงมีความสุขหาโรคมิได้เถิด”

ทันทีที่พระจอมมุนีตรัสจบลง บุตรของนางก็คลอดโดยง่าย เมื่อสามีกลับมาถึงบ้าน นางสุปปวาสาก็คลอดเรียบร้อยแล้ว ทั้งบุตรและมารดาปลอดภัยเกษมสำราญดี นางและสามีต่างชื่นชมโสมนัสในพระพุทธานุภาพ กล่าวออกมาพร้อมๆ กันว่า พระพุทธเจ้ามีคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีคุณหาประมาณมิได้ และพระสงฆ์มีคุณหาประมาณมิได้

วันต่อมา นางให้สามีไปอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เพื่อรับภัตตาหารเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ ณ เคหะของนาง พอดีเวลานั้นพระองค์ก็ได้รับอาราธนาของอุบาสกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นอุปฐากของพระมหาโมคคัลลานะไว้เสียก่อนแล้ว พระตถาคตจึงให้พระมหาโมคคัลลานะเข้าเฝ้า ทรงเล่าเรื่องให้ฟัง แล้วตรัสว่า

“ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอพึงไปยังบ้านของอุบาสกผู้นั้น แล้วกล่าวขอเลื่อนการนิมนต์ของเขาไปสัปดาห์หน้าเขาจะขัดข้องหรือไม่ ถ้าเขาขัดข้องก็จะได้ไม่ต้องรับอาราธนาของนางสุปปวาสา”

อัครสาวกเบื้องซ้ายรับพุทธบัญชาเหนือเศียรเกล้าแล้วไปหาอุบาสกผู้นั้น แล้วบอกเขาตามพุทธบัญชา อุบาสกทราบแล้วกล่าวว่า

“ข้า แต่พระคุณเจ้า ถ้าท่านจะรับรองได้ว่า โภคทรัพย์ของข้าพเจ้าจะไม่เสื่อมสิ้นพินาศไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สองคือชีวิตของข้าพเจ้าจะไม่มีอันตรายเกิดขึ้น และประการที่สามคือศรัทธาของข้าพเจ้าจะไม่หมด คงมีอยู่อย่างเดิม ถ้าพระคุณเจ้าสามารถเป็นผู้ประกันเหตุทั้งสามประการนี้ว่าจะไม่เกิดขึ้นแก่ ข้าพเจ้าภายใน ๗ วันนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็ยินยอม”

พระมหาเถระผู้เลิศทางฤทธิ์นั่งสงบอยู่ครู่หนึ่งแล้วกล่าวว่า

“ดู ก่อนอุบาสก อาตมาเป็นปาฏิโภคให้ท่านได้สองประการ คือขอรับรองว่าโภคทรัพย์ของท่านจะไม่เสื่อม และชีวิตของท่านจะไม่สิ้นไปหรือเป็นอันตรายใดๆ ภายใน ๗ วันนี้ ส่วนศรัทธาขอให้ท่านรับรองตัวท่านเอง อาตมารับรองให้ไม่ได้”

อุบาสกผู้นั้นรับรองศรัทธาของตน และยินยอมเลื่อนการนิมนต์ของตนไปสัปดาห์หน้า

พระ ศาสดามีพระสงฆ์ขีณาสพเป็นบริวาร เสด็จเสวยภัตตาหาร ณ บ้านของนางสุปปวาสา เป็นเวลา ๗ วัน วันหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสถามนางว่า

“สุ ปปวาสา เธออุ้มครรภ์อยู่ ๗ ปี และปวดครรภ์อยู่ ๗ วัน ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสอย่างนี้แล้ว เธอยังจะปรารถนามีบุตรอีกหรือไม่”

“ข้าพระองค์ยังปรารถนามีได้อีกถึง ๗ ครั้งพระเจ้าข้า” นางสุปปวาสาตอบ

พระตถาคตเจ้าทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า

“สุ ปปวาสาเอย มักจะเป็นอย่างนี้แหละ สิ่งที่ไม่น่ายินดีมักจะปลอมมาในรูปที่น่ายินดี สิ่งที่ไม่น่ารักมักจะมาในรูปแห่งสิ่งที่น่ารัก ความทุกข์มักจะมาในรูปแห่งความสุข เพราะดังนี้คนจึงประมาทมัวเมากันนัก”

ขอ ย้อนกล่าวถึงพุทธานุภาพอีกสักเล็กน้อย เพื่อบรรเทาความสงสัยของท่าน ท่านจะเห็นได้ว่า อานุภาพของคนนั้นมักจะเป็นผลแห่งบารมีธรรมหรือคุณความดีที่สั่งสมอบรมมา ก็พระศาสดาของเรานั้นเคยสละชีวิตเลือดเนื้อมากมาย จุดมุ่งหมายก็เพื่อพระโพธิญาณอันประเสริฐ พระพุทธานุภาพหรือลาภสักการะที่หลั่งไหลนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้นเอง พระองค์เคยสละชีพไม่เพียงแต่แก่มนุษย์เท่านั้น แม้สัตว์ผู้หิวโหยก็ทรงเคยกระทำ

ครั้งหนึ่งพระองค์เป็นหัว หน้าดาบสบำเพ็ญตบะอยู่บนภูเขา เวลาเย็นวันหนึ่ง พระองค์ประทับรับลมเย็นอยู่ ณ ชะง่อนผา มองลงมาเบื้องล่างเห็นแม่เสือตัวหนึ่งเพิ่งคลอดลูกใหม่ยังออกจับเนื้อกินไม่ ได้ มันจึงหิวโหยสุดประมาณ กำลังงุ่นง่านจะกินเนื้อลูกของมัน ดาบสเห็นดังนั้นจึงให้ดาบสผู้เป็นบริวารรีบไปเที่ยวแสวงหาสัตว์ที่ตายแล้วมา เพื่อโยนให้แม่เสือตัวนั้นกิน แต่เมื่อเห็นแม่เสืองุ่นง่านมากขึ้นทุกที ดาบสบริวารคงหาเนื้อมาไม่ทันเป็นแน่ เนื้อสัตว์ที่ตายเองในป่ามิใช่หาได้ง่าย พระดาบสโพธิสัตว์จึงตัดสินใจช่วยชีวิตลูกเสือไว้ โดยกระโดดจากเชิงผาลงตรงหน้าแม่เสือพอดี พระดาบสตาย เป็นการสละชีพเพื่อช่วยเหลือสัตว์อื่น ข้อมุ่งหมายสูงสุดก็คือพระโพธิญาณ

คราวนี้เมื่อนางวิสาขาทราบว่า พระพุทธองค์เสวยพระกระยาหารที่บ้านของอนาถบิณฑิกะแล้วเสด็จออกทางประตูทิศ อุดร จึงรีบไปเฝ้าโดยเร็ว ถวายบังคมแล้วทูลว่า “พระองค์จะเสด็จจาริกไปที่อื่นหรือพระเจ้าข้า” เมื่อพระศาสดาทรงรับแล้วจึงกราบทูลอีกว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สละทรัพย์มากหลายเพื่อสร้างอารามถวายพระองค์ ขอพระองค์เสด็จกลับก่อนเถิดพระเจ้าข้า อย่าเพิ่งเสด็จไปเลย”

“ดูก่อนวิสาขา อย่าเลย อย่าให้ตถาคตกลับเลย ให้ตถาคตทำกิจของพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์เถิด”

นางวิสาขาดำริว่า พระพุทธองค์น่าจะทรงมีเหตุพิเศษเป็นแน่แท้จึงกราบทูลว่า

“พระองค์ ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้นขอพระองค์รับสั่งให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้รู้กิจที่ควรกระทำแล ไม่ควรกระทำกลับเถิดพระเจ้าข้า”

“ดูก่อนวิสาขา เธอพอใจภิกษุรูปใด ขอให้เธอนิมนต์ภิกษุรูปนั้นไว้เถิด”

ความ จริงนางวิสาขาอยากได้พระอานนท์ไว้ แต่คิดว่าพระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ถ้าอาราธนาท่านอยู่จะสามารถให้การสร้างอารามสำเร็จโดยเร็ว จึงได้อาราธนาพระมหาโมคคัลลานะกลับ พระมหาเถระมองดูพระศาสดาเป็นเชิงทูลปรึกษาและฟังพุทธบัญชา พระศาสดาจึงทรงอนุญาตให้พระเถระพร้อมด้วยบริวารกลับ

ใน ความอำนวยการของพระอัครสาวกเบื้องซ้าย ปราสาทสองชั้นสำเร็จไปโดยรวดเร็ว มีทั้งหมด ๑,๐๐๐ ห้อง คือชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง และชั้นบน ๕๐๐ ห้อง พระศาสดาเสด็จจาริกไป ๙ เดือนจึงเสด็จกลับ การก่อสร้างปราสาทก็สำเร็จในเวลา ๙ เดือนเช่นกัน

นางได้ อาราธนาพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ประทับอยู่ ณ ปราสาทนั้นเป็นเวลา ๔ เดือนเพื่อทำการฉลองปราสาท เมื่อพระตถาคตเจ้ารับแล้วนางก็เตรียมการถวายอาหาร เครื่องอุปโภคอื่นๆ แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุข

ครั้งนั้นมีสตรีผู้ เป็นสหายของนางวิสาขาคนหนึ่งนำผ้าซึ่งมีค่าถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ มาเพื่อปูพื้นที่ปราสาท จึงบอกนางวิสาขาว่า “สหายข้าพเจ้านำผ้ามาผืนหนึ่ง ท่านจะให้ปู ณ ที่ใด” นางวิสาขาตอบว่า “สหายข้าพเจ้านำผ้ามาผืนหนึ่ง ท่านจะให้ปู ณ ที่ใด” นางวิสาขาตอบว่า “สหาย ถ้าข้าพเจ้าจะตอบว่าไม่มีสถานที่จะให้ปู ท่านก็จะเข้าใจว่า ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะให้ท่านร่วมกุศล เพราะฉะนั้นขอให้ท่านดูเอาเองเถิด เห็นสมควรปูลง ณ ที่ใดก็ปูลง ณ ที่นั้น”

นางเดินสำรวจ ทั่วปราสาทก็มองไม่เห็นที่ใดที่จะปูด้วยผ้ามีราคาน้อยกว่า ๑,๐๐๐ กหาปณะเลย นางรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ส่วนแห่งบุญในปราสาทนั้น จึงไปยืนร้องไห้อยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง

พระอานนท์เดินไปพบเธอเข้าโดยบังเอิญ เมื่อไต่ถามทราบความแล้วจึงแนะให้นางปูลาดผ้านั้นลงพร้อมด้วยปลอบโยนว่า

“น้อง หญิง ผ้าซึ่งปูที่เชิงบันไดนี้ ย่อมอำนวยผลมากมีอานิสงส์ไพศาล เพราะภิกษุทั้งหลายเมื่อล้างเท้าแล้ว ย่อมเช็ดเท้าด้วยผ้าซึ่งอยู่ตรงนี้แล้วเข้าไปข้างใน”

นางดีใจอย่างเหลือล้นที่พระอานนท์สามารถหาที่ปูลาดผ้าให้นางได้สมปรารถนา ได้ยินว่านางวิสาขาลืมกำหนดที่ตรงนั้นไป

นางวิสาขาได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอดเวลา ๔ เดือน ในวันสุดท้ายได้ถวายจีวรเนื้อดีมีราคามาก เฉพาะจีวรที่ถวายแก่พระซึ่งอ่อนพรรษาที่สุดก็มีราคาถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ ในสมัยเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ไม่มีสตรีใดทำบุญเกิน หรือแม้แต่เพียงเท่านางวิสาขาเลย

ในวันที่ฉลองปราสาทเสร็จ นั่นเอง เวลาบ่ายนางวิสาขาผู้อันบุตรและหลานแวดล้อมแล้วเดินเวียนรอบปราสาท เปล่งถ้อยคำออกมาด้วยความเบิกบานในใจว่า

“บัดนี้ ความปรารถนาของเราที่จะถวายวิหารทานเป็นปราสาทใหม่มีเครื่องฉาบทาอย่างดีสำเร็จแล้ว

บัดนี้ ความปรารถนาของเราที่จะถวายเสนาสนภัณฑ์ มีเตียงตั่งและหมอน เป็นต้น สำเร็จบริบูรณ์แล้ว

บัดนี้ ความปรารถนาของเราที่จะถวายสลากภัตด้วยอาหารที่สะอาดประณีตสำเร็จบริบูรณ์แล้ว

บัด นี้ ความปรารถนาของเราที่จะถวายจีวรทานด้วยผ้าที่ทำจากแคว้นกาสี ผ้าเปลือกไม้และผ้าฝ้าย เป็นต้น สำเร็จบริบูรณ์แล้ว

บัด นี้ ความปรารถนาของเราที่จะถวายเภสัชทาน มีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อย เป็นต้น ก็สำเร็จบริบูรณ์แล้ว”

ภิกษุทั้งหลายได้ฟังเสียงของนาง แล้วกราบทูลพระศาสดาว่า

“พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นนางวิสาขาขับร้องเลย มาวันนี้นางพร้อมด้วยบุตรและหลานเดินเวียนปราสาทขับร้องอยู่ ดีของนางกำเริบหรือเป็นบ้าประการใด”

พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเราหาได้ขับร้องไม่ แต่เพราะอัธยาศัยในการที่จะบริจาคของนางเต็มบริบูรณ์แล้ว จึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานใจ” พระธรรมราชาผู้ฉลาดในการแสดงธรรมเพื่อจะทรงแสดงธรรมให้พิสดารออกไปจึงตรัส ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย วิสาขาธิดาของเราน้อมจิตไปเพื่อทำกุศลต่างๆ เมื่อทำได้สำเร็จสมปรารถนาก็ย่อมบันเทิงเบิกบานประหนึ่งนายมาลาการผู้ฉลาด รวบรวมดอกไม้นานาพันธุ์ไว้ แล้วร้อยเป็นพวงมาลัยให้สวยงามฉะนั้น”

แล้วพระจอมมุนีทรงย้ำอีกว่า

“นาย มาลาการผู้ฉลาดย่อมทำพวงดอกไม้เป็นอันมากจากกองดอกไม้ที่เก็บรวบรวมไว้ฉันใด สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจะต้องตายก็ควรสั่งสมบุญกุศลไว้ให้มากฉันนั้น”

บุคคล ผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์และสมบูรณ์ด้วยศรัทธานั้นค่อนข้างจะหาได้ยาก ผู้มีศรัทธามักจะมีทรัพย์น้อย ส่วนผู้มีทรัพย์มากมักจะขาดแคลนศรัทธา อุปมาเหมือนนายช่างผู้ฉลาดแต่ขาดดอกไม้ ส่วนผู้มีดอกไม้มากมูล แต่ขาดความสามารถในการจัดเสียอีก ส่วนนางวิสาขาพรั่งพร้อมสมบูรณ์ทั้งศรัทธาและทรัพย์ จึงมีทั้งทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายในบริบูรณ์

วันหนึ่ง นางวิสาขาได้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์ไว้เพื่อรับภัตตาหารที่บ้านของนาง เมื่อถึงเวลาแล้วนางจึงให้หญิงคนใช้ไปนิมนต์พระ แต่หญิงคนใช้มารายงานว่า ในวัดเชตวันไม่มีพระสงฆ์อยู่เลย มีแต่นัคคบรรพชิต (นักบวชเปลือย) ทั้งสิ้นกำลังอาบน้ำฝนอยู่ วันนั้นฝนตกหนักมาก

เวลานั้น พระศาสดายังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามพระเปลือยกายอาบน้ำ เมื่อฝนตกใหญ่ภิกษุทั้งหลายก็ดีใจกันใหญ่ และเปลือยกายอาบน้ำกันเกลื่อนเชตวนาราม หญิงคนใช้ไม่รู้จึงเข้าใจว่าภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นนักบวชเปลือยสาวกของ นิครนถ์นาฏบุตร (พระในศาสนาเชน)

นางวิสาขาเป็นผู้ฉลาด เมื่อได้ฟังดังนั้นก็เข้าใจเรื่องโดยตลอด จึงให้คนรับใช้ไปนิมนต์ภิกษุอีกครั้งหนึ่ง นางกลับไปครั้งนี้ภิกษุได้อาบน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้วและครองจีวรแล้ว คนรับใช้จึงเห็นภิกษุอยู่เต็มเชตวนารามและอาราธนาว่าถึงเวลาภัตกิจแล้ว

วัน นั้นเองนางวิสาขาปรารภเรื่องนี้ ทูลขอพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเมื่อถึงฤดูฝนเข้าพรรษานางขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่ ภิกษุทั้งหลายเพื่อใช้อาบน้ำ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ถวายได้ ประชาชนทั้งหลายพากันเอาอย่าง ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝนจึงมีมาจนกระทั่งหลังพุทธปรินิพพานและจนกระทั่ง บัดนี้

ผู้ฉลาดย่อมหาโอกาสทำความดีได้เสมอ พุทธบริษัทในรุ่นหลังเป็นหนี้ความดีของนางวิสาขาในฐานะเป็นผู้ริเริ่มสิ่ง ที่ดีงามไว้ให้คนทั้งหลายถือเป็นเยี่ยงอย่างดำเนินตามมากหลาย ด้วยประการฉะนี้

ภาคผนวก
เรื่องวิสาขามหาอุบาสิกา

พระอรรถกถาจารย์อธิบายพระพุทธพจน์ที่ตรัสกับนางวิสาขา เรื่องควรทำกุศลให้มากเหมือนช่างทำดอกไม้ไว้ว่า

“ถ้า ดอกไม้มีน้อย แม้ช่างดอกไม้ฉลาด ก็ไม่สามารถทำดอกไม้ให้มากได้ เมื่อดอกไม้มีน้อยหรือมากก็ตาม ย่อมไม่อาจทำพวงดอกไม้ได้ ฉันใด บุคคลบางพวกมีศรัทธาน้อย แม้สมบัติจะมีมาก ก็ไม่อาจทำกุศลมากได้ บางคนมีศรัทธามากแต่โภคะน้อยก็ไม่อาจทำมากเหมือนกัน บางคนศรัทธาน้อยโภคะก็น้อยก็ไม่อาจทำได้ ส่วนบางคนมีศรัทธามากด้วย มีโภคะมากด้วย เขาย่อมทำกุศลโอฬารได้”

นางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นผู้เช่นนั้น มีมากทั้งศรัทธาและโภคะ พระศาสดาตรัสพุทธภาษิตนี้ หมายเอานางวิสาขานั่นเอง

ใน ชีวิตของคนเรานั้นไม่มีอะไรเป็นแก่นสารนอกจากความดี เมื่อความแก่ ความเจ็บ และความตาย รวมทั้งความโศกเศร้าเสียใจพิไรรำพันต่างๆ ห้อมล้อมชีวิตอยู่ เสมือนภูเขาใหญ่ ศิลาล้วนกลิ้งบดมาทั้ง ๔ ทิศ มนุษย์ควรจะทำอะไรยิ่งกว่า กุศลจริยา (ประพฤติธรรมที่เป็นกุศล) สมจริยา (ประพฤติธรรมที่สุจริต) ชีวิตมนุษย์น้อยเกินไป ไม่ควรประมาท

พอ ถึงวัย ๖๐ ก็ใกล้ตายเต็มที และเป็นไปได้เสมอที่จะตายก่อนนั้น มีอะไรเล่าเป็นทุนสำหรับโลกหน้า นอกจากบุญกุศลอันตนได้ทำเองเมื่อมีเรี่ยวแรงอยู่ สัตว์ผู้เกิดมาจึงควรรีบเร่งขวนขวายทำบุญกุศลไว้ให้มาก ชีวิตจริงๆ ของคนเราคือชีวิตในโลกหน้า เสมือนเรือนอยู่ประจำของเรา ส่วนชีวิตในโลกนี้เสมือนศาลาพักในระหว่างทางเท่านั้น

ชีวิต มนุษย์เราไม่ถึงร้อยปีก็ตาย แต่ชีวิตของเทพแม้เพียงเทพชั้นดาวดึงส์ก็มีระยะอายุถึง ๓๖ ล้านปีมนุษย์ ลองคิดดูเถิดว่าห่างกันเพียงใด และชีวิตในโลกทิพย์นั้นมิได้ทุกข์ทรมานอย่างชีวิตในโลกมนุษย์นี้

เพราะฉะนั้นบุคคลจึงไม่ควรประมาทในการสร้างคุณงามความดี ควรหาโอกาสรีบทำเช่นเดียวกับนางวิสาขามหาอุบาสิกา

No comments: