Sunday, January 11, 2009

แพะทำอะไรผิดหรือ?

อินเดีย นับว่าเป็นประเทศที่เลี้ยงแพะมากที่สุดประเทศหนึ่ง และที่ได้ยินได้ฟังว่า ชาวฮินดูบูชายัญด้วยแพะ และประเทศไทยก็จะมีการจับแพะให้เห็นอยู่เรื่อย ๆวันนี้จึงขอนำเรื่องที่ว่าด้วย..เรื่อง แพะ ๆ จากแดนพุทธองค์มากล่าวพอได้คติเรื่องแพะ ๆ ดังนี้ว่า

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภมตกภัต ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสี สมัยพระเจ้าพรหมทัต มีพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่ง คิดจะทำมตกภัต (อุทิศคนตาย) จึงให้ลูกศิษย์จับแพะตัวหนึ่งไปอาบน้ำและประดับดอกไม้ แพะพอถูกลูกศิษย์จูงไปที่ท่าน้ำ ก็ทราบถึงวาระสุดท้ายชีวิตของตนมาถึงแล้วอันเนื่องจากกรรมเก่า จึงเกิดความโสมนัส ได้หัวเราะออกมาเสียงดัง และคิดเวทนาสงสารพราหมณ์ที่จะได้รับความทุกข์โศก จึงร้องไห้ออกมา แพะแสดงอาการเดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ออกมา ทำให้พวกลูกศิษย์แปลกใจ เมื่อนำแพะกลับมาถึงสำนักแล้ว จึงบอกเรื่องนี้แก่พราหมณ์ พราหมณ์จึงถามแพะถึงอาการนั้น

แพะจึงบอกพราหมณ์ว่า " อดีตชาติ เคยเป็นพราหมณ์เหมือนกัน เพราะได้ฆ่าแพะตัวหนึ่งทำมตกภัต จึงเป็นเหตุให้ถูกฆ่าตัดศีรษะถึง ๔๙๙ ชาติ นี่เป็นชาติที่ ๕๐๐ พอดี จึงหัวเราะดีใจที่จะสิ้นกรรมในวันนี้ และร้องไห้ เพราะสงสารท่านที่จะเป็นเช่นกับเรา "

พราหมณ์ ได้ฟังแล้วเกิดความสลดใจ จึงยกเลิกไม่ฆ่าแพะ และสั่งให้ลูกศิษย์ทำการอารักขาแพะเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้แพะเกิดอันตราย แพะจึงบอกพราหมณ์ว่า " การอารักขาของท่านมีประมาณน้อย ส่วนบาปกรรมของเรามีกำลังมาก อะไรก็ห้ามไม่ได้ "

แพะ พอเขาปล่อย ก็ชะเง้อคอจะกินใบไม้ใกล้แผ่นหินแห่งหนึ่ง ทันใดนั้นเอง ฟ้าได้ผ่าลงที่แผ่นหิน สะเก็ดหินชิ้นหนึ่งได้ปลิวไปตัดคอแพะที่กำลังชะเง้อคออยู่พอดี แพะล้มลงสิ้นใจตายทันที

รุกขเทวดาที่อยู่ในที่นั้น ได้กล่าวสอนว่า " มนุษย์ผู้กลัวตกนรก พึงพากันงดจากปาณาติบาต ตั้งอยู่ในเบญจศีลเถิด " และกล่าวเป็นคาถาว่า
" ถ้าสัตว์ทั้งหลาย พึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติภพนี้เป็นทุกข์
สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่าผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมเศร้าโศก "

<>

นิทานรื่องนี้สอนให้รู้ว่า


เกิดเป็นคนไม่พึงทำกรรมชั่วด้วยการฆ่าสัตว์ด้วยกัน มิเช่นนั้นจะได้รับความทุกข์เช่นแพะรับบาปนี้



ความหมายและที่มาของคำว่า แพะรับบาป

คำ ว่า "แพะรับบาป" หมายถึง ผู้ที่มิได้กระทำผิด แต่กลับต้องเป็นผู้รับโทษ หรือรับความผิดที่ผู้อื่นกระทำไว้ ที่มาของคำนี้ปรากฏในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ซึ่งเป็นคัมภีร์ของชาวอิสราเอลผู้มีภูมิหลังเป็นผู้เลี้ยงแพะ แกะเป็นอาชีพ

แพะ รับบาปเป็นพิธีปฏิบัติในวันลบบาปประจำปีของชาวอิสราเอล (the annaul day of atonement) ซึ่งเริ่มด้วยการปุโรหิตถวายวัวเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปของตนเองและครอบครัว เมื่อเสร็จพิธีแล้วนั้น ปุโรหิตจะนำแพะ ๒ ตัวไปถวายพระเป็นเจ้าที่ประตูเต็นท์นัดพบ และจะเป็นผู้จับสลากเลือกแพะ ๒ ตัวนั้น

สลาก ที่ ๑ เป็นสลากสำหรับแพะที่ถวายแก่พระเป็นเจ้าอีกสลากหนึ่งเป็นสลากสำหรับแพะรับ บาป หากสลากแรกตกแก่แพะตัวใด แพะตัวนั้นจะถูกฆ่าและถวายเป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปของประชาชน เรียกว่า "แพะไถ่บาป"

ส่วน สลากที่ ๒ หากตกแก่แพะตัวใด แพะตัวนั้นเรียกว่า "แพะรับบาป" ซึ่งปุโรหิตจะถวายพระเป็นเจ้าทั้งยังมีชีวิตอยู่ แล้วใช้ทำพิธีลบบาปของประชาชนโดยยกบาปให้ตกที่แพะตัวนั้นเสร็จแล้วก็จะ ปล่อยแพะตัวนั้นให้นำบาปเข้าไปในป่าลึกจนทั้งแพะและบาปไม่สามารถกลับมาอีก (ลนต. ๑๖ : ๖–๑๐, ๑๕–๒๒)

ส่วน ในศาสนาฮินดู เซอร์มอเนียร์ วิลเลียมส์ (Sir Monier Williams) สันนิษฐานว่า การฆ่ามนุษย์บูชายัญคงไม่เป็นที่ถูกอัธยาศัยพื้นฐานของพวกอารยัน คัมภีร์พราหมณะจึงอธิบายว่าเทวดาฆ่ามนุษย์ ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชายัญก็ออกไปจากมนุษย์เข้าสู่ร่างม้า ม้าจึงกลายเป็นสัตว์ที่เหมาะสมจะใช้ฆ่าบูชายัญ เมื่อฆ่าม้า ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชาก็ออกจากตัวม้าไปเข้าสู่ร่างโค เมื่อฆ่าโค ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชา ก็ออกจากตัวโคไปเข้าสู่ร่างแกะ จากแกะไปสู่แพะ ส่วนที่เหมาะสมจะใช้บูชา คงอยู่ในตัวแพะนานที่สุด เพราะฉะนั้น แพะจึงกลายเป็นสัตว์เหมาะสมที่สุดสำหรับใช้ฆ่าบูชายัญ ซึ่งก็ทำให้เห็นที่มาอีกแห่งหนึ่งของคำว่า "แพะรับบาป"
คำอธิบายของคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล คงให้ตอบท่านได้เป็นอย่างดี
ได้ สอบถามผู้นำแพะไปบูชายัญว่า ดีอย่างไร เขาบอกว่า การนำแพะไปบูชาเทพเจ้า ๆ จะโปรดให้ได้รับโชคลาภเป็นอันมาก และเป็นการส่งแพะซึ่งถือว่าเป็นสัตว์อาภัพให้ไปเกิดในภพใหม่ที่ดีกว่า ฉะนั้นการนำแพะบูชายัญจึงถือว่าได้บุญสองต่ออีกด้วย



ที่มา http://www.oknation.net/blog/mylifeandwork/2009/01/06/entry-2

No comments: