Monday, January 19, 2009

ไม้สะเดาและอานิสงส์ของการเคี้ยว..จากพุทธกาลถึงปัจจุบัน

สะเดาอินเดีย (Azadirachta indica A. Juss.)

สะเดาอินเดีย หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า Neem – นีม นั้น ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า ในพรรษาที่ 11 พระพุทธเจ้า ได้จำพรรษาภายใต้จิมมันทพฤกษ์ คือไม้สะเดา อันเป็นมุขพิมานของเพรุยักษ์ ใกล้นครเวรัญชา
สะเดาอินเดีย เป็นพันธุ์ไม้สกุล (Genus) Azadirachta ในวงศ์ไม้สะเดา (Meliaceae) เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ และจะออกช่อดอกพร้อมใบอ่อนในเวลาเดียวกัน ลำต้น เปลา ตรง สีเทา แตกเป็นร่องไปตามยาวลำต้น แก่นแข็งสีแดง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบออกเป็นช่อ ช่อหนึ่ง ๆ มีใบย่อย 7 -9 คู่ ใบย่อยมักติดเยื้องกันเล็กน้อย ขอบใบหยัก ใบยอดมักม้วนลง ดอกสีขาว ออกเป็นช่อ ตามปลายกิ่งหรือเหนือรอยแผลใบ โคนเกสรเพศผู้มี 10 อัน โคนจะติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ผลกลมรี ๆ ยาวประมาณ 1.5 - 2 ซม. ผิวบาง ภายในมีเนื้อเยื่อฉ่ำน้ำ ผลแก่สีเหลือง

สะเดาของไทยใบจะโตกว่าสะเดาอินเดียเล็กน้อย ถือเป็นสายพันธุ์หนึ่งของสะเดาอินเดีย มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า ว่า Azadirachta indica A. Juss. Var. siamensis Valeton และมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไปตามท้องที่ เช่น กะเดา จะด้ง และสะเลียม เป็นต้น ทั้งสะเดาอินเดีย และสะเดาไทย ต่างก็ชอบขึ้นตามที่ค่อนข้างแห้งแล้งและเป็นพันธุ์ไม้เบิกนำได้ดีนอกจากจะปลูกเพื่อหวังใช้ประโยชน์จาก เนื้อไม้แล้ว ยังใช้ยอดและดอกอ่อนใช้เป็นอาหาร ราก และเปลือกยังใช้เป็นยาสมุนไพรได้ ทางคติอินเดียถือว่า ผู้ใดนอนใต้ต้นสะเดาแล้วโรคภัยไข้เจ็บจะหายไป เพราะสะเดาเวลาคายน้ำออกจะมีสารระเหยบางชนิด เที่เข้าใจว่ามีคุณสมบัติทางยาใช้รักษาโรค ถึงกับมีเรื่องเล่ากันว่า ภรรยาชาวอินเดียที่ไม่ยอมให้สามีออกไป ต่างบ้าน พยายามสั่งสามีว่า เมื่อจะไปให้ได้ก็ไม่ว่า แต่ในระหว่างเดินไปจะพักนอนที่ไหน ขอให้นอนใต้ต้นมะขาม เมื่อนึกจะกลับบ้านก็ขอให้นอนใต้ต้นสะเดา สามีก็เชื่อฟังภรรยาเมื่ออกจากบ้านก็นอนใต้ต้นมะขามเรื่อยไป ต้นมะขามกล่าวกันว่าเป็นต้นไม้ที่ทำให้เกิด ความเจ็บไข้ เมื่อนอนใต้โคนอยู่เรื่อยก็เกิดอาการไม่สบาย ไม่สามารถจะเดินทางต่อไปได้จึงคิดเดินทางกลับบ้าน เมื่อนึกถึงคำภรรยาสั่งไว้ว่าขากลับให้นอนใต้ต้นสะเดา จึงนอนใต้ต้นสะเดาเรื่อยมา ฤทธิ์ทางยาของไม้สะเดา ก็รักษาอาการไข้ของชายคนนั้นให้หายไปทีละน้อย ๆ และหายเด็ดขาดเมื่อกลับมาถึงบ้านพอดีนับว่า หญิงอินเดียมีกุโศลบายดีมาก

การที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาใต้ต้นสะเดาจะเกี่ยวข้องกับคติดังกล่าวหรือไม่คงไม่มีใครทราบ
แต่คตินี้ก็น่าจะให้ข้อคิดบางอย่างเพราะแพทย์แผนปัจจุบันพยายามสกัดสารพวกอัลคอลอยด์บางอย่างไป ใช้ผสมยา เช่น ทำยาธาตุ ยาแก้ท้องเสีย ฯลฯ ฉะนั้น เวลากลางคืนสะเดาจะคายน้ำรวมทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ ์ออกมาย่อมจะมีสารระเหยพวกนี้ออกมาด้วย เมื่อสูดเข้าไปเรื่อย ๆ ก็อาจเป็นการบริโภคได้ทางหนึ่ง มะขามมักจะอยู่ตามโคกและตามโคกมักจะมีสัตว์พวกงูพิษซุ่ม คนนอนก็จะต้องคอยระมัดระวัง จะไม่เป็นอันหลับอันนอน ก็ย่อมจะเพลียไม่มีแรงเดินทางต่อ และพาลจะเจ็บป่วยไปด้วย แต่สะเดาชอบขึ้นตาม ที่ราบโล่งบรรดาสัตว์ร้าย เช่น งูไม่ชอบอาศัย คนนอนก็นอนสบายทำให้มีกำลังแข็งแรง คนเราถ้านอนได้เต็มที่ก็สามารถสร้างภูมิต่อสู้กับโรคภัยได้เช่นกัน พระพุทธเจ้าทรงระบุผลของการเคี้ยวไม้สีฟันด้วยไม้สะเดาไว้ ๕ ประการคือ
๑. สายตาดี
๒. ปากไม่มีกลิ่นเหม็น
๓. ประสาทรับรสหมดจด
๔. ดีและเสมหะไม่รึงรัดอาหาร
๕. รับประทานอาหารได้อร่อย (มีรส)

สะเดา..ก่อนจะสีฟันต้องเคี้ยวให้เป็นฝอยเหมือนแปรงสีฟันก่อนใช้แปรงฟัน

ที่อินเดียมีวางขายทั่วไป ยามเช้า ตามท่ารถ สถานีรถไฟ และท่าน้ำทั่วอินเดีย

ที่มา http://www.oknation.net/blog/mylifeandwork/2009/01/16/entry-1

No comments: