(หนามบ่งหนาม)
พระนางรูปนันทาเป็นผู้พอใจในรูป
มีความเสน่หายิ่งนักในอัตภาพของตน
ธรรมอันเหมาะแก่เธอก็คือ
การย่ำยีความเมาในรูปนั่นเอง
ทำนองหนามยอกเอาหนามบ่ง
เรื่องนี้เกิดขึ้น ขณะที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร
พระ นางรูปนันทานั้นเกี่ยวเนื่องเป็นพระญาติที่ใกล้ชิดของพระพุทธองค์ คือ เป็นพระราชธิดาของพระนางมหาประชาบดีโคตมี พระน้านางแห่งพระศาสดา พระนางรูปนันทาจึงเป็นพระน้องนางเธอต่างพระมารดา
ปรากฏเป็นที่เลี่ยงลือว่า ทรงพระสิริโฉมมากล้น นาม “รูปนันทา” นั้นแปลว่า มีรูปน่าบันเทิงใจ
ความ หลงตัวของคนเรานั้นมีมากอยู่แล้ว หญิงใดสวยมากเข้าอีก ความหลงตัวก็เพิ่มขึ้นเป็นตรีคูณ พระนางรูปนันทาเป็นสตรีที่สวยมากคนหนึ่ง พระนางเพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติ วัยสมบัติ และทรัพย์สมบัติ ล้วนแต่เป็นวัตถุแห่งความเมาทั้งสิ้น
แต่กระนั้น พระนางก็รู้สึกว้าเหว่มากเป็นครั้งคราวเพราะพี่น้องชวนกันไปบวชเสียแล้วเป็นจำนวนมาก
วันหนึ่งพระนางทรงปรารภกับพระองค์เองว่า
“พระ เชษฐภาดาของเรา ได้สละรัชสิริสมบัติออกบวชสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เป็นเอกอัครบุคคลในโลกแล้ว พระราชโอรสของพระองค์หลานของเราคือพระราหุลก็ออกบวชแล้ว ภาดาของเราคือพระนันทะก็ออกบวชแล้ว พระมารดาของเราก็ออกบวชแล้วเช่นกัน เมื่อหมู่ญาติมากเห็นปานนี้ออกบวชแล้ว เราจะอยู่ครองเรือนทำไมเล่า”
พระ นางทรงดำริเช่นนั้นแล้ว จึงตัดสินพระทัยออกบวชเป็นภิกษุณีตามพระมารดา พระนางผนวชเพราความอาลัยในพระญาติ และเพราะความว้าเหว่โดยแท้ หาใช่เพราะศรัทธาไม่
พระนางทรงได้ยินได้ฟังเสมอว่า พระศาสดาทรงแสดงธรรมตำหนิรูปเป็นต้นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา รูปนี้ไม่งามเต็มไปด้วยสิ่งพึงรังเกียจนานาประการ จึงไม่ปรารถนาฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เกรงว่าจะทรงตำหนิรูปของพระนางว่าเป็นเช่นนั้น พระนางยังไม่รู้ความจริงและไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริง
แต่ ประชาชนชาวนครสาวัตถี ตื่นเช้าขึ้นมาก็บริจาคทาน สมาทานอุโบสถ มีผ้าห่มสีขาวบริสุทธิ์ ถือของหอมและดอกไม้ เป็นต้น ประชุมกันฟังธรรมในเวลาเย็น ณ วัดเชตวัน แม้ภิกษุณีทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน พอใจฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา
ทุก คนที่ได้ฟังธรรมแล้ว ต่างก็ชื่นชมโสมนัส และพรรณนาถึงพระคุณสมบัติ และความไพเราะแห่งพระธรรมเทศนาของพระองค์ทุกคนไป บางคนสรรเสริญรูป บางคนพอใจในพระกระแสเสียง
จริงทีเดียวในโลกนี้ มีความนิยมของตนอยู่ ๔ ประเภท คือ
๑. นิยมรูป (รูปปมาณิกา)
๒. นิยมเสียง (โฆสปมาณิกา)
๓. นิยมความปอน (ลูขปมาณิกา)
๔. นิยมธรรม (ธัมมปมาณิกา)
บุคคล ประเภทแรก ย่อมเลื่อมใสพระตถาคตเจ้าด้วยการได้เห็นพระรูปอันสง่างาม ทรงสิริวาสเกินเปรียบ พระฉวีมีสีคล้ายไล้ด้วยทอง มีลักษณะงามนานาประการ
บุคคลประเภทที่สอง เมื่อได้ฟังพระกระแสเสียงอันไพเราะของพระองค์ในขณะแสดงพระธรรมเทศนาแล้วก็เกิดความเลื่อมใส
บุคคล ประเภทที่สาม ได้เห็นความเรียบแห่งสีจีวรของพระตถาคตเจ้าเป็นต้น แล้วก็เกิดความเลื่อมใสว่า โอ! พระสุคตทรงเป็นอยู่ง่ายจริงหนอ เครื่องนุ่มห่มของพระองค์มีเพียงปกปิดร่างกายให้เรียบร้อยเท่านั้น หาใช่เพื่อความสวยงามไม่ สีจีวรของพระองค์เล่าก็เรียบ ดูสะอาดสบายตา ไม่ฉูดฉาด
บุคคลประเภทที่สี่ ผู้ถือธรรมเป็นประมาณ หรือนิยมธรรมนั้นเมื่อได้ฟังธรรมอันถูกต้อง บริสุทธิ์จากพระศาสดาแล้ว ก็รู้ว่า อ้อ! ศีลเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้ ปัญญาเป็นอย่างนี้ ล้วนมีอยู่ในพระทศพลเจ้าทุกประการ พระองค์เป็นผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน เลิศแล้วด้วยพระคุณมีศีลเป็นต้น ดังนี้แล้วย่อมเลื่อมใส
สาเหตุแห่งความเสื่อมของคนในโลก อันท่านกล่าวไว้แล้ว ๔ ประการนี้แล
พระนางรูปนันทาได้สดับเสียงพรรณนาพระคุณของพระศาสดาจากสำนักอุบาสิกาบ้าง จากสำนักภิกษุณีบ้าง จึงทรงดำริว่า “คนทั้งหลายสรรเสริญพี่ชายเราเสียจริง น่าจะลองไปฟังธรรมดูบ้าง หากพระองค์จะทรงตำหนิรูปของเรา ก็จะตำหนิสักเท่าไรเชียว ไฉนหนอเราจะพึงไปสู่สำนักของพระศาสดา ฟังธรรมโดยที่มิให้พระองค์เห็นเรา”
วัน นั้นภิกษุณีทั้งหลายตื่นเต้นกันมากเมื่อทราบว่า พระนางรูปนันทาจะเสด็จฟังธรรมด้วย และคิดว่าวันนี้พระศาสนาคงจะแสดงธรรมอย่างวิจิตรเป็นแน่นอน
ฝ่าย พระนางรูปนันทานั้น ตั้งแต่ออกจากสำนักภิกษุณีก็ทรงดำริไปตลอดทางว่า จะไม่ให้พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นตน ความคิดของพระนางช่างเหมือนคนที่ต้องการห้ามพระอาทิตย์ส่องแสงนี่กระไร
พระศาสดาได้ทรงทราบแล้วด้วยพระญาณอันไม่มีอะไรขวางกั้นได้ ทรงดำริว่า “ธรรมเทศนาอะไรหนอจะเหมาะแก่อุปนิสัยของรูปนันทา?” ทรงเห็นว่า “พระ นางรูปนันทาเป็นผู้พอใจในรูป มีความเสน่หายิ่งนักในอัตภาพของตน ธรรมอันเหมาะแก่เธอก็คือ การย่ำยีความเมาในรูปนั่นเอง ทำนองหนามยอกเอาหนามบ่ง”
ดังนั้น พระศาสดาจึงทรงเนรมิตหญิงคนหนึ่ง ด้วยกำลังแห่งอิทธาภิสังขารแห่งพระองค์ (อิทธาภิสังขาร = การบันดาลฤทธิ์)
หญิงนั้นรูปงามยิ่ง อายุประมาณ ๑๖ – ๑๗ ประดับประดาด้วยสรรพาภรณ์อันเลิศด้วยสีต่างๆ ยืนถวายงานพัดอยู่ใกล้พระพุทธองค์
พระ นางรูปนันทาเข้าไปนั่งท่ามกลางภิกษุณีทั้งหลายเพื่อหลบซ่อนมิให้พระศาสดาทอด พระเนตรเห็น พระนางมองดูพระเชษฐภาดาตั้งแต่พระบาท ได้เห็นพระสรีโรภาสอันวิจิตรด้วยพระมหาปุริสลักษณะ รุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะ แวดล้อมด้วยรัศมีเรืองอุไรข้างละประมาณหนึ่งวา พระนางทอดพระเนตรพระโอษฐ์แห่งพระตถาคตอันมีสิริประหนึ่งดวงจันทร์เพ็ญ แลแล้วให้มองเห็นรูปแห่งสตรีเนรมิตซึ่งยืนอยู่ ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาค
พระนางและพระศาสดาเท่านั้นมองเห็น คนอื่นมิได้เห็นเลย
รูปนั้นเป็นอิทธิยมรูป รูปอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ให้งามปานใดก็ได้ พอเห็นเท่านั้น พระนางก็ตะลึงพรึงเพริด
“โอ ช่างงามอะไรปานนี้” พระนางอุทานอยู่ในพระทัย “ผม หน้าผาก สรรพางค์กายทั้งสิ้น ช่างงามพร้อมหาใครเปรียบมิได้”
พระนางถูกเสน่ห์แห่งรูปนิมิตนั้นครอบงำพระทัยเสียแล้ว ครู่หนึ่งจึงก้มลงมองดูพระสรีรูปแห่งพระนางเอง
“อา! ทำไม, ทำไมถึงแตกต่างกันถึงขนาดนี้?” พระนางดำริ “นั่นเหมือนนางพญาหงส์ เราเหมือนนางกา อา! เราเคยกระหยิ่มนักว่า จะหาใครสวยเสมอเรานั้นยาก อย่าว่าแต่จะยิ่งกว่าเราเลย แต่เวลานี้ได้เห็นประจักษ์แล้วว่า ความสวยของเราไม่ได้ส่วนหนึ่งแห่งร้อยของสตรีนั้นเลย”
“แต่ เอ๊ะ! ทราบว่าพระเชษฐภาดาทรงตำหนิรูป ไม่ทรบสรรเสริญความงามแห่งรูป ไฉนจึงทรงมีสตรีอันเลิศแล้วด้วยรูปเห็นปานนี้ยืนถวายงานพัดในเวลาแสดงธรรม อา! ประหลาด, ประหลาดจริงๆ ที่คนเล่าลือกันนั้นไม่จริงเสียแล้ว”
“ทำอย่างไรหนอ เราจะได้สวยอย่างสตรีนั้นบ้าง” พระนางทรงดำริในที่สุด
พระบรมศาสดาทรงทราบวารจิตของพระนางโดยตลอด จึงทรงบันดาลให้รูปนั้นล่วงวัย ๑๖ – ๑๗ เข้าสู่วัย ๒๐
พระนางมองเห็นแล้วประหลาดพระทัย “เอ๊ะ! ทำไมแก่เร็วอย่างนั้น วัยล่วงไปมากแล้ว”
พระ ศาสดาทรงบันดาลให้รูปนั้นล่วงวัย ๒๐ ปีไปถึงวัยกลางคน ๔๐ วัยชรา ๘๐ – ๙๐ ฟันหัก ผมหงอก หนังหดเหี่ยว ซี่โครงเหมือนกลอนเรือนงกงันสั่นเทิ้มไปทั้งกาย และมีโรคเข้าเบียดเบียน ทิ้งไม้เท้า และวีชนี (พัด) ร้องเสียงดัง ล้มกลิ้งลงยังภาคพื้น กลิ้งเกลือกไปมาทับมูตรและกรีสของตน
พระนางรูปนันทาทอดพระเนตรแล้ว คลายความพอใจในรูปนั้นอย่างยิ่ง สิ่งที่เข้ามาแทนที่ก็คือความเบื่อหน่ายระอิดระอา
พระศาสดาทรงบันดาลให้หญิงนั้นตายไปต่อหน้าต่อตาของพระนางรูปนันทา
ศพ นั้นขึ้นพอง น้ำเหลืองและหนอนออกจากทวารทั้ง ๙ คือ ตา หู จมูก ปาก ทวารหนัก ทวารเบา กาและแร้งลงยื้อแย่งจิกกินเป็นพัลวัน
พระ นางรูปนันทาทรงเห็นดังนั้นแล้ว ทรงดำริว่า “หญิงนี้ ชราแล้ว เจ็บแล้ว และตายแล้วในที่นี้ทีเดียว ชรา พยาธิ และมรณะ จะต้องมาถึงอัตภาพของเราในทำนองเดียวกันนี้เหมือนกัน”
พระนางได้เห็นอัตภาพโดยความเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาแล้ว
กษณะ นั้น ภพทั้งสามคือ กามภพ (ภพของสัตว์โลกผู้ยังข้องอยู่ในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะทางกาย) รูปภพ (ภพของพรหมผู้ได้รูปฌาน ๔) และอรูปภพ (ภพของพรหมผู้ได้อรูปฌาน ๔) ปรากฏแก่พระนางเสมือนมีไฟลุกโชนแล้ว อัตภาพปรากฎแก่พระนางเสมือนศพอันแขวนอยู่ที่คอ
จิตของพระนางจึงมุ่งต่อกรรมฐานอันมีอสุภเป็นอารมณ์
พระ ศาสดาทรงทราบดังนั้น ทรงใคร่ครวญต่อไปว่า “พระนางรูปนันทาจะสามารถบรรลุมรรคผลด้วยเหตุประมาณเท่านี้หรือไม่หนอ? หรือต้องได้รับการช่วยเหลืออีก”
ทรงทราบว่า ต้องได้รับการช่วยเหลืออีก พระศาสดาจึงทรงหลั่งพระธรรมเทศนาเป็นการช่วยเหลือ เสมือนทรงยื่นศัสตราให้แก่บุคคลผู้ดึงเชือกจวนจะขาดอยู่แล้ว
“รูป นันทาเอย จงดูเถิด ดูร่างกายอันอาดูรไม่สะอาดเปื่อยเน่านี้อันโครงกระดูกช่วยกันยกขึ้น มีสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด ไหลเข้าไหลออกอยู่เสมอ ซึ่งเป็นที่ต้องการนักของคนเขลา”
“รูปนันทาเอย ร่างกายนี้ฉันใด กายของเธอก็ฉันนั้น กายของเธอฉันใด กายนี้ก็ฉันนั้น เธอจงมองดูธาตุทั้งหลายโดยความเป็นของว่างเปล่าเถิด จะได้ไม่ต้องมาสู่โลกนี้อีก จงสำรองราคะความพอใจในภพเสียเถิดจักได้เป็นผู้สงบเต็มที่”
เพียงเท่านี้ พระนางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
ลำดับนั้น พระศาสดามีพระประสงค์จะแสดงสุญญตาภาวนา เพื่ออบรมให้เห็นแจ้งในมรรคผลทั้งสามเบื้องปลายต่อไป จึงตรัสว่า
“รูป นันทาเอย สรีระนี้ไม่มีสาระอะไร สาระสักหน่อยหนึ่งก็มิได้ได้มีมันเป็นเพียงนครกระดูก กระดูกรวมกันเข้าเป็นโครงร่างเท่านั้น”
“รูปนันทาเอย ดูเถิด จงดูนครกระดูกนี้ซึ่งมีเลือดและเนื้อเป็นเครื่องฉาบทา อันเป็นที่รองรับความแก่ความตายอันเป็นเพลิงทุกข์ และรองรับความทะนงตน ความลบหลู่คุณของผู้อื่น ซึ่งเป็นเพลิงกิเลส”
พระนางส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนา ได้บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์แล้ว ณ ที่นั้นเอง
เรื่องพระนางรูปนันทา
เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนพระนางรูปนันทานี้ พระอรรถกถาจารย์ได้พรรณนาไว้ว่า
“เหมือน อย่างว่าเรือนไม้มีไม้เป็นโครงฉันใด สรีระนี้ก็ฉันนั้น มีกระดูกเป็นโครง มีเส้นเอ็นเป็นเครื่องรัดรึง ฉาบด้วยเนื้อและเลือด หุ้มห่อด้วยหนัง เป็นที่ตั้งลงแห่งชราซึ่งมีความทรุดโทรมเป็นลักษณะ แห่งมัจจุซึ่งมีความตายเป็นลักษณะ แห่งมานะซึ่งมีความเมาเพราะอาศัยความถึงพร้อมด้วยทรวดทรงอันงามเป็นต้น ลักษณะ
อาพาธอันเป็นไปทางกายและจิต ย่อมตั้งลงในสรีระนี้ นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะพึงถือเอาได้โดยความเป็นแก่นสาร”
จะพรรณนาตามความโดยสังเขปตามแนวของพระอรรถกถาจารย์เพิ่มเติมอัตโนมัตยาธิบายตามหลักวิชาบ้างเล็กน้อย
คัมภีร์ ทางพุทธศาสนาหลายแห่งเรียกกายนี้ว่า กายนคร แปลว่า นครคือกาย ผู้ครองนครนี้คือพระเจ้าจิตราช กล่าวคือจิตหรือใจ อวัยวะต่างๆ หรือสรีรยนต์ต่างๆ เป็นพลเมืองของพระเจ้าจิตราชนั้น กายกับจิตจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โบราณเรากล่าวว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” คือจิตเป็นผู้ออกคำสั่ง กายเป็นผู้ปฏิบัติตาม ดูเหมือนว่าไม่มีนายและบ่าวคู่ใดที่เป็นห่วงเป็นใยกันเท่ากายกับจิต เราจะเห็นได้ว่าเมื่อใดกายกระวนกระวาย เจ็บปวด หรือหิวกระหาย เมื่อนั้นจิตก็พลอยกระวนกระวายด้วย พลอยขาดความสุขด้วย และเมื่อนั้นจิตจะคอยเหลียวหาที่พึ่งให้กาย คอยหาทางบำบัดให้กาย ถ้าหาทางบำบัดได้ใจก็สบายแจ่มใส ถ้ายังบำบัดไม่ได้ตราบใดใจก็กระวนกระวายอยู่ตาบนั้น
ท่านจึงกล่าวว่า “ใจที่สบายอยู่ในร่างกายที่เป็นสุข The sound mind is in the sound body” มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จิตมีอำนาจเหนือกายโดยเด็ดขาด กล่าวคือแม้กายจะกระวนกระวายอยู่ เพราะความเจ็บปวด เพราะความหิวกระหาย แต่ใจของท่านหากระวนกระวายด้วยไม่ พระอรหันต์มีอำนาจจิตสูงมาก สามารถแยกกายและจิตออกจากกันได้
ส่วนปุถุชนคนธรรมดายังไม่ มีความสามารถเช่นนั้น เมื่อกายทุกข์ ใจจึงทุกข์ด้วย เมื่อกายสุข บางครั้งใจก็พลอยสุขไปด้วย แต่ไม่แน่เสมอไปเพราะมีบ่อยครั้งกายมิได้เป็นอะไร เรียบร้อยดีทุกอย่าง แต่ใจทุกข์ไปต่างๆ สุมเอาทุกข์ไว้เพียบเปล้ในจิตใจ
เป็น การแน่นอนอยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อใดใจเป็นทุกข์ เมื่อนั้นความทุกข์นั้นย่อมแผ่กระจายมาถึงกายด้วย เมื่อใดใจมีความกังวล หวาดกลัว โกรธจัด ริษยามาก เป็นต้น เมื่อนั้นย่อมมีผลกระทบกระเทือนถึงกายด้วยทุกครั้งไป ความวิตกกังวลและความเศร้าเสียใจที่เกาะกินใจอยู่นานๆ อาจเป็นเหตุให้เกิดโรคเรื้อรังบางอย่างได้ เช่น คนไข้บางรายมีอาการคล้ายกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังหรือมีแผลในกระเพาะ อาหาร มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง แต่เมื่อหมอตรวจดูอย่างถี่ถ้วนแล้วก็ไม่เห็นความผิดปกติใดๆ ของกระเพาะอาหารเลย สืบประวัติไปจึงได้รู้ว่าสาเหตุมาจากจิตใจ เช่น มีความผิดหวังจากชีวิตในครอบครัว ความโกรธ ความเกลียด ความริษยารุนแรง เป็นต้น
เมื่อเกิดอารมณ์กลัวขึ้นซึ่งเป็นเรื่องทางใจ แต่อาการก็ปรากฏให้เห็นด้วย เช่น หน้าซีด เหงื่อแตก กระเพาะปัสสาวะบีบรัดตัวอย่างแรงทำให้อยากปัสสาวะ หรือถึงกับปัสสาวะออกมา ลำไส้มีการเคลื่อนไหวมากจนถ่ายอุจจาระออกมาโดยไม่รู้สึกตัว กระเพาะมีอาการบีบตัวทำให้คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น
วงการ แพทย์เมืองไทยเรากล่าวว่า “ในจำนวนคนไข้ที่มาหาเพื่อการปรึกษาและรับการรักษาโรค คนที่เป็นโรคทางใจเป็นต้นเหตุนั้นมีถึง ๑ ใน ๕ หรือราวร้อยละ ๒๐”
แต่ ในสหรัฐอเมริกา คนไข้ที่มีสาเหตุมาจากจิตใจนั้นมีมากกว่าเมืองไทย ดูเหมือนมีถึงร้อยละ ๗๕ ความอ่อนเพลียบางอย่างที่เรียกว่าอ่อนเพลียละเหี่ยใจนั้น เนื่องจากมีความผิดปกติทางใจ เช่น ความผิดหวังในความรัก หรือในการงาน เป็นต้น
รวมความว่า กายกับใจนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาก กระทบกระเทือนถึงกันอยู่เสมอ เมื่อเกิดอาการผิดปกติขึ้นทางใดทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งก็จะพลอยผิดปกติไปด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อความสุขกายสบายใจจึงควรรักษากายด้วยดี รักษาจิตด้วยดี คุ้มครองจิตด้วยดี
จะพรรณนามากไปเกินความ สรุปว่ากายนี้เป็นเหมือนนครหนึ่งซึ่งมีกระดูกเป็นโครง (อฏฺฐีนํ นครํ กตํ) มีเลือดและเนื้อเป็นเครื่องฉาบทา (มํสโลหิตเลปนํ)
เลือด นั้นไหลเวียนอยู่ทั่วร่างกาย อาศัยเส้นโลหิตเป็นทางจร ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ฝอยบ้าง ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะแทงลงไปตรงใดในกาย จึงมีเลือดออกมาทันที ท่านว่าเลือดหมุนเวียนอยู่ในร่างกายประมาณ ๖ ลิตร ก็ไม่ใช่น้อย เลือดมีความสำคัญต่อร่างกายมาก ขาดเลือดหรือเลือดไม่พอคนก็ตาย เมื่อมีบาดแผลขึ้นด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่นถูกแทงหรือถูกฟัน ถ้าเลือดออกมาก ให้เข้าไปชดเชยไม่ทันคนก็ตาย ถ้าการแทงหรือการฟันนั้นถูกเส้นเลือดใหญ่เลือดยิ่งออกมากทำให้ตายเร็วขึ้น เพราะพิษบาดแผลด้วย ท่านว่าคนถูกบาดแผลนี้ กำลังใจสำคัญที่สุด ถ้ากำลังใจเสียก็ตายเร็ว ถ้ากำลังใจดีก็ตายช้า หรืออาจรอดชีวิตได้
ทาง แพทย์บอกว่าเลือดมี ๒ ชนิด คือเลือดดำกับเลือดแดง เลือดดำยังไม่ได้ฟอก เลือดแดงฟอกแล้ว พร้อมที่จะส่งไปเลี้ยงร่างกาย ส่วนเม็ดเลือดก็มีอยู่ ๒ ชนิดเหมือนกัน คือเม็ดเลือดดำและเม็ดเลือดขาว หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของเม็ดเลือดแดงคือนำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต่างๆ ในร่างกาย ส่วนเม็ดเลือดขาวจะทำลายเชื้อโรคโดยกินเชื้อโรคเข้าไปในตัวของมัน และเชื้อโรคจะถูกน้ำย่อยต่างๆ ในเม็ดเลือดขาวนั้นทำลายเสียสิ้น
เลือด เกิดจากอาหารที่บำรุงร่างกายนั้นเอง เลือดเป็นมันสมอง เป็นกล้ามเนื้อและเป็นกระดูก เพียงแต่ยังเหลวอยู่เท่านั้น อวัยวะทุกส่วนย่อยดูดเอาส่วนที่ต้องการจากเลือด กล่าวได้ว่าเลือดเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งในร่างกาย
แต่เมื่อออกนอกกายแล้ว เลือดมีกลิ่นคาวเหม็น ปฏิกูล พึงรังเกียจ เป็นสิ่งปฏิกูลอย่างหนึ่งในอาการ ๓๒
เนื้อ นั้นคืออวัยวะที่มีอยู่ทั่วไปในร่างกายอันผิวหนังห่อหุ้มไว้ เนื้อและเลือดคลุกเคล้ากันอยู่ทุกแห่ง ที่ใดมีเนื้อที่นั้นมีเลือด เราจึงมักได้ยินคำพูดไปด้วยกันเสมอว่า “เลือดเนื้อ”
เนื้อ ห่อหุ้มกระดูกไว้ เมื่อเฉือนเนื้อออกในที่นั้นๆ จึงมองเห็นกระดูกสีขาว กายซึ่งเป็นประมวลแห่งอาการ ๓๒ มี เลือด เนื้อ หนัง เอ็น กระดูกเป็นต้นนี้นี่เอง เป็นที่อาศัยอยู่ของความแก่ ความตาย มานะและมักขะ
มานะคือความทะนงตน ความเย่อหยิ่ง ยกตนว่าสูงกว่าผู้อื่น มีอาการเหยียดผู้อื่น บางคนได้อาศัยร่างกายนี้เป็นที่เพาะมานะให้เจริญเติบโตขึ้น พึงเห็นสตรีที่สวยงามบางคนเป็นตัวอย่าง เธอหลงในร่างกายอันสมมติว่างามของตน แล้วดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น และอาศัยกายงามก่อให้เกิดความกำหนัดแก่บุรุษเพศนั้น เป็นเครื่องยั่วยวนให้คนหลง แล้วประกอบกรรมชั่วต่างๆ ตามความปรารถนาของตน บางคนอาศัยความงามแห่งกายทำลายตบะของผู้มีตบะ ดังมีเรื่องเกี่ยวกับฤษีและนักพรตจำนวนไม่น้อยในอดีต
ว่าโดยความปฏิกูล กายนี้ปฏิกูล โสโครก เป็นที่ไหลออกแห่งอสุจินานาประการ
ว่าโดยโทษ กายนี้เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์และโรคนานาประการสุดจะพรรณนาได้
ว่า โดยคุณ กายนี้มีคุณในฐานะเป็นเครื่องมือรับใช้ผู้มีใจสูงสะอาดให้ได้ประกอบกรรมดี อันเป็นประโยชน์แก่ตน ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ตลอดถึงโลก เช่น กายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นักวิทยาศาสตร์บางท่าน นายแพทย์บางท่าน เป็นต้น
โลกียธรรมทั้งมวลย่อมมีทั้งคุณและโทษ
บาง ท่านหลงติดในรูปกายอย่างรุนแรง แต่ต่อมาได้บรรเทาความหลงใหลอันนั้น บรรเทาความเมาเสียได้เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างมาก เช่น พระนางรูปนันทาเถรีดังกล่าวแล้ว
No comments:
Post a Comment