Tuesday, January 13, 2009

สิริมา ผู้ต้นร้ายปลายดี จากหนังสือ “ลีลากรรมของสตรีสมัยพุทธกาล” ของ อ.วศิน อินทสระ

สิริมา
ผู้ต้นร้ายปลายดี
จากหนังสือ “ลีลากรรมของสตรีสมัยพุทธกาล”
ของ อ.วศิน อินทสระ หน้า ๒๐๙ - ๒๒๑

รูปที่มีความงามถึงปานนี้ถึงแล้วซึ่งความสิ้น
และความเสื่อมไปตามธรรมดาของรูปทั้งหลาย
รูปนี้เป็นอย่างไร รูปอื่นก็อย่างนั้น
รูปอื่นเป็นอย่างไร รูปนี้ก็อย่างนั้น

นาง สิริมาหลังจากได้สำเร็จโสดาปัตติผลเป็นโสดาบันแล้ว ได้ทูลอาราธนาพระทศพลเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เพื่อเสวยพระกระยาหารในวันรุ่ง ขึ้น ได้ถวายมหาทานอันโอฬารและประณีต ตั้งแต่นั้นมาได้ถวายอาหารแก่ภิกษุวันละ ๘ รูปเป็นประจำ

นาง ได้เอาใจใส่สั่งคนรับใช้ให้ไปทำของประณีตถวายสงฆ์ใส่ให้จนเต็มบาตรทุกรูป อาหารที่พระรูปเดียวรับไปจากบ้านของนางพอเลี้ยงพระถึง ๓ หรือ ๔ รูป

ต่อ มาวันหนึ่งภิกษุรูปหนึ่งไปรับอาหารที่บ้านของนางสิริมาแล้วกลับมา ตกตอนเย็นนั่งสนทนากับเพื่อนภิกษุด้วยกัน รูปหนึ่งถามขึ้นว่า

“อาวุโส วันนี้ ท่านไปรับอาหารบิณฑบาตที่ใด”
“ที่บ้านของนางสิริมา” ท่านตอบ
“อาหารดีไหม”
“ดี ไหม ดีจนพูดไม่ถูก ปริมาณก็มากด้วย อาหารที่นางถวายแก่ข้าพเจ้านั้นแจกจ่ายแก่เพื่อน ๆ ได้ถึง ๓ หรือ ๔ รูป แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ นางสวยเหลือเกิน การได้มองดูนางดีกว่าไทยธรรมของนางเสียอีก ท่านลองคิดดูเถิดว่าจะเลิศปานใด ปาก จมูก คอ มือ เท้าของนางดูงามละเมียดละไมไปหมด”

ภิกษุรูปนั้นได้ฟัง เพื่อนเล่าดังนี้กระหายใคร่ได้เห็นนางสิริมาบ้าง จึงถามถึงลำดับของตนว่าจะได้ไปเมื่อใด ก็ทราบว่าวันพรุ่งนี้เป็นลำดับของตน ดีใจเป็นนักหนา

วัน รุ่งขึ้น เมื่ออรุณยังไม่ทันเบิกฟ้าก็รีบเข้าไปที่โรงสลาก ได้เป็นหัวหน้าพระอีก ๗ รูป ไปสู่บ้านของนางสิริมาเพื่อรับอาหาร บังเอิญนางสิริมาล้มป่วยลงโดยกะทันหันตั้งแต่วันวาน จึงเปลื้องเครื่องอาภรณ์ที่สวยงามออกแล้วนอนซมอยู่

เมื่อ เวลาพระมาถึง นางได้สั่งสาวใช้ให้จัดแจงให้เรียบร้อยเหมือนอย่างที่นางเคยทำเอง คือนิมนต์ให้พระคุณเจ้านั่งแล้วเอาบาตรไปบรรจุโภชนะให้เต็มแล้วถวายข้าวยาคู หรือข้าวสวยแก่พระคุณเจ้า

หญิงรับใช้ได้ทำตามที่นางสั่งทุกประการ เสร็จแล้วบอกให้นางทราบ นางจึงขอให้หญิงรับใช้ช่วยกันประคองนางออกไปเพื่อไหว้พระคุณเจ้าทั้ง ๆ ที่กำลังจับไข้อยู่ ตัวของนางจึงสั่นน้อย ๆ

ภิกษุรูปนั้นเห็นนางสิริมาแล้ว ตะลึงในความงาม พลางคิดว่า

“โอ กำลังจับไข้อยู่ยังงามถึงปานนี้ ในเวลาไม่เจ็บป่วย ประดับประดาด้วยสรีราภรณ์อลังการอันสวยงามนางนี้จะมีรูปสมบัติเลิศปานใด หนอ”

ขณะนั้นเอง กิเลสที่ท่านเคยสั่งสมไว้หลายโกฏิปีก็ฟูขึ้นประหนึ่งถูกแรงลม ท่านนั้นมีใจจดจ่ออยู่แต่นางสิริมา ไม่สามารถฉันอาหารใด ๆ ได้เลย กลับสู่วิหารแล้วปิดบาตรไว้โดยมิได้แตะต้อง เอาจีวรคลุมศีรษะนอนรำถึงสิริมาด้วยความหลงใหล

ภิกษุผู้เป็นสหายกันทราบความนั้น พยายามชี้แจงและอ้อนวอนให้ท่านฉันอาหาร แต่ก็ไร้ผล

และเย็นวันนั้นเอง นางสิริมาก็ตาย

พระเจ้าพิมพิสารให้ราชบุรุษไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า บัดนี้นางสิริมาน้องสาวของหมอชีวกตายเสียแล้ว

พระ ศาสดาทรงทราบเรื่องการตายของนางสิริมา และทรงทราบเรื่องภิกษุผู้หลงใหลในรูปของนางสิริมานั้นด้วย ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จักแสดงสัจธรรมบางประการ และทรงเห็นอุบายที่จะสอนภิกษุรูปนั้นและประชาชนทั้งหลายให้ทราบถึงความเป็น ไปแห่งชีวิต จึงทรงรับสั่งถึงพระราชาพิมพิสารว่า ขอให้รักษาศพของนางสิริมาไว้ในป่าช้าผีดิบ อย่าให้กาและสุนัขเป็นต้นกัดกิน

พระราชาทรงทราบแล้วทรงทำตามพุทธบัญชา เพราะทรงแน่พระทัยว่าพระศาสดาจะต้องทรงมีพระอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน

สาม วันล่วงไปตามลำดับ ในวันที่สี่สรีระนั้นขึ้นพอง น้ำเน่าไหลเยิ้มไปทั่วทั้งร่าง สรีระทั้งสิ้นแตกออกเปื่อยเน่าและผุพัง พระราชาให้ราชบุรุษเที่ยวตีกลองประกาศทั่วพระนครว่า เว้นแต่เด็กหรือคนชราเฝ้าเรือนแล้ว ใครไม่ไปดูนางสิริมาจะถูกปรับ ๘ กหาปณะ แล้วทรงส่งข่าวไปถึงพระผู้มีพระภาค หากพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์จะดูนางสิริมาด้วยก็จะเป็นการดี

พระ ศาสดาตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า จะเสด็จไปดูศพนางสิริมาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก ภิกษุรูปนั้นพอทราบว่าพระศาสดาและภิกษุสงฆ์จะไปดูนางสิริมาเท่านั้น แม้จะอดอาหารมาตั้ง ๔ วันแล้วก็รีบลุกขึ้นทันที เอาอาหารที่บูดเน่าในบาตรนั้นทิ้ง เช็ดบาตรเรียบร้อยแล้วเอาใส่ถุงบาตร ไปกับหมู่ภิกษุ

พระศาสดาผู้อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ประทับยืนอยู่ข้างหนึ่ง แม้ภิกษุณีสงฆ์ ราชาบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัทก็ยืนอยู่ข้างหนึ่งๆ

พระศาสดาตรัสถามพระราชาว่า
“มหาบพิตร ร่างนั้นคือใคร”
“นางสิริมาพระเจ้าข้า” พระราชาตรัสตอบ
“นางสิริมาหรือนั่น” พระพุทธองค์ทรงถามซ้ำ
“พระเจ้าข้า” พระราชาทูลตอบ

“มหาบพิตร ถ้าอย่างนั้นขอให้พระองค์ยังราชบุรุษให้เที่ยวประกาศในพระนครว่า ใครให้ทรัพย์พันหนึ่งแล้วจงมารับนางสิริมาไป”

พระราชารับ สั่งให้ราชบุรุษทำอย่างนั้นแล้ว ราชบุรุษเที่ยวประกาศทั่วพระนคร ไม่มีใครเลยที่จะรับนางสิริมาเป็นของตน ราชบุรุษประกาศลดราคาลงตามลำดับ ๕๐๐, ๒๕๐, ๒๐๐, ๑๐๐, ๕๐, ๑๐, ๕ กหาปณะ ๑ กหาปณะ ครึ่งกหาปณะ บาทเดียว มาสกหนึ่ง กากนิกหนึ่ง ในที่สุดประกาศให้เปล่าก็ไม่มีใครรับ พระราชาทูลความทั้งปวงให้พระศาสดาทรงทราบแล้ว

พระผู้เจนจบ รู้แจ้งแล้วซึ่งโลกและธรรมทั้งปวงทอดพระเนตรภิกษุทั้งมวลแล้วตรัสว่า

“ดู เถิดภิกษุทั้งหลาย ดูสตรีอันเป็นที่รักที่พอใจของคนเป็นอันมาก เมื่อก่อนนี้ให้ทรัพย์พันกหาปณะแล้วให้อยู่ร่วมด้วยนางสิริมาเพียงวันเดียว คนทั้งหลายก็แย่งกัน แต่บัดนี้เวลาล่วงไปเพียง ๕ – ๖ วันเท่านั้น ร่างเดียวกันนี้แม้ให้เปล่าก็ไม่มีใครต้องการ ภิกษุทั้งหลาย รูปที่มีความงามถึงปานนี้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นและความเสื่อมไปตามธรรมดาของ รูปทั้งหลาย รูปนี้เป็นอย่างไร รูปอื่นก็อย่างนั้น รูปอื่นเป็นอย่างไร รูปนี้ก็อย่างนั้น”

“ภิกษุทั้งหลาย ดูเถิดดูร่างกายที่เปื่อยเน่ามีกลิ่นเหม็น มีกระดูกเป็นโครง อันเนื้อและเลือดซึ่งเกิดแต่กรรมทำให้วิจิตรแล้ว ร่างกายนี้อาดูรไม่มีความเที่ยงหรือยั่งยืน แต่คนส่วนมากก็ยังดำริถึงด้วยความกำหนัดพอใจ”


เมื่อ จบพระธรรมเทศนาลง ธรรมาภิสมัยคือการรู้ธรรมได้เกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลเป็นอันมาก แม้ภิกษุรูปที่ติดใจร่างกายของนางสิริมายิ่งนักก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล

พระ ผู้มีพระภาคทรงใช้หนามจากต้นไม้ต้นเดียวกันนั้นเองบ่งหนามที่เสียบภิกษุสาวก ของพระองค์มาเป็นเวลาหลายวันถึงกับฉันไม่ได้นอนไม่หลับ ทรงใช้วิธี “หนามยอกเอาหนามบ่ง”

วิธีเดียวกันนี้ได้เคยทรงโปรดพระนัน ทะโอรสแห่งพระน้านางให้สำเร็จมรรคผลมาแล้วเช่นกัน โดยพระนันทะได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อหญิงงามตามที่พระศาสดาทรงให้ปฏิญาณว่า หากประพฤติพรหมจรรย์ปฏิบัติธรรมตามพระดำรัสสั่งของพระองค์แล้วจะทรงเป็น ประกันให้ได้หญิงงาม และแล้วทรงพาพระนันทะนั้นเที่ยวดูความงามแห่งหญิงในราชสกุลต่าง ๆ ในที่สุดพระนันทะได้เห็นแจ้งว่าความงามไม่มีที่สิ้นสุด คนที่ตนเคยรักเคยหลงใหลในความงามในกาลก่อนนั้นเมื่อเทียบกับความงามของหญิง คนอื่น ๆ ที่ตนได้พบเห็นในภายหลังแล้ว ความสวยงามของหญิงที่ตนรักนั้นมีประมาณน้อยเหลือเกิน เมื่อว่างจากการเที่ยวดูหญิงงาม ท่านก็ทำสมถะและวิปัสสนายังจิตให้สงบแจ่มแจ้ง ในที่สุดได้เห็นสภาวะแห่งชีวิตตามความเป็นจริงว่าไม่ควรหลงใหลยึดมั่นถือ มั่น เพราะความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ตามสัดส่วนที่ยึดมั่น ถือมั่นนั้นจึงได้สำเร็จอรหัตผล ไม่ต้องการหญิงงามใด ๆ อีกต่อไป พระศาสดาจึงทรงเป็นผู้พ้นจากการประกันไปโดยปริยาย

นี่คือพุทธจริยาวิธีหนามยอกเอาหนามบ่งของพระองค์
ภาคผนวก
นางสิริมา

“ความ ตั้งอยู่ยั่งยืนของร่างกายใดไม่มี ท่านจงดูกายนั้นซึ่งกรรมทำให้วิจิตรแล้ว มีแผลอยู่เป็นประจำ มีกระดูกเป็นโครง น่าเบื่อหน่าย (แต่) เป็นที่รำพึงของคนส่วนมาก”

อธิบาย โดยย่อว่ากายเป็นโลกียธรรมอย่างหนึ่ง ตกอยู่ในลักษณะสามัญคือไม่ยั่งยืน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วแตกสลายไป

ร่างกาย ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนที่แข้นแข็งจัดเป็นธาตุดิน เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ส่วนที่เหลวจัดเป็นธาตุน้ำ เช่น น้ำดี น้ำหนอง น้ำเหลือง น้ำเลือด เหงื่อ เป็นต้น ส่วนที่พัดไปมาและทำให้อวัยวะต่าง ๆ เคลื่อนไหวได้ คู้เข้า เหยียดออกไปจัดเป็นธาตุลม เช่น ลมที่ซ่านไปทั่วกาย ลมในกระเพาะอาหาร ลมในลำไส้ ลมหายใจ เป็นต้น ส่วนที่ทำความร้อนจัดเป็นธาตุไฟ เช่น ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย ไฟที่ทำให้ความอบอุ่นในร่างกาย เป็นต้น

ธาตุทั้ง ๔ ดังกล่าวมาต้องเป็นไปสม่ำเสมอ ร่างกายจึงจะผาสุกขาดไปหรือพร่องไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ร่างกายก็ไม่ผาสุก เป็นเหตุให้ไม่สบายต่างๆ นานา ตัวอย่างเช่น ความอบอุ่นในร่างกายต้องมีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศร้อนหรือประเทศหนาว อุณหภูมิภายนอกจะแตกต่างกันเพียงไรก็ตาม แต่ความอบอุ่นหรือไออุ่นในร่างกายจะต้องรักษาให้อยู่ในระดับเดิมของมัน ถ้าความร้อนในร่างกายมีมากเกินไป เราก็จะเป็นไข้ ยิ่งร้อนมากไข้ก็ยิ่งสูงมาก ถ้าความเย็นในกายมีมากเกินไป เลือดก็จะแข็ง ไม่ไหลเวียน ตายได้เหมือนกัน

ความอบอุ่นในกายนี้ได้ อาหารเป็นเชื้อเพลิง เมื่อขาดอาหาร ไฟในกายก็ดับตายเหมือนกัน สังเกตได้ว่า เมื่อกินอาหารมากความร้อนในกายจะสูงขึ้น น่าจะเป็นเพราะไฟในกายได้โหมแรงขึ้นเพื่อเผาเชื้อคืออาหารให้ย่อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหารด้วยเหมือนกัน อาหารบางอย่างให้ความร้อนมาก เช่น อาหารประเภทแป้ง น้ำตาล น้ำมัน บางอย่างให้ความร้อนน้อย เช่น ผักสด ผลไม้สด เป็นอาทิ

จะพรรณาเรื่องร่างกายกับอาหารก็ไม่สิ้นสุดลงโดยง่าย เพราะมีเรื่องจะกล่าวอีกมากจึงขอข้ามไป
นอกจากอาหารคือ ข้าว น้ำ เป็นต้นแล้ว ร่างกายนี้ยังต้องการอากาศที่ดี แสงสว่าง เครื่องนุ่มห่มเพื่อกำจัดความหนาว ร้อน เป็นอาทิ และยังต้องการออกกำลังกายพอประมาณ จึงจะเป็นไปได้ด้วยดี

กาย นี้เป็นของที่ต้องบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ เพราะมันทรุดโทรมสึกหรอไปทุกวัน ๆ แต่ไม่โทรมให้เห็นทันที ค่อยเป็นค่อยไปกว่าจะถึงชรา อาหารและการพักผ่อนเป็นสิ่งช่วยบูรณะส่วนที่สึกหรอไปให้คงเดิม แต่เป็นไปได้ชั่วคราว นานเข้าก็โทรมจนซ่อมไม่ไหวเรียกว่าชรา ในที่สุดแตกดับคือตาย

จะพรรณนาแต่ละข้อไปตามลำดับโดยสังเขป

ข้อว่า กายนี้กรรมทำให้วิจิตรแล้ว นั้นมีอธิบายว่า ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่ากรรมเป็นผู้ตกแต่งสัตว์ทั้งหลายให้หยาบ หรือประณีตดังพระพุทธภาษิตว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิหํ หีนปฺปณีตตาย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้หยาบหรือประณีต

ความหยาบ ความประณีตนี้ รวมเอารูปร่างลักษณะอวัยวะทุกส่วน อัธยาศัยใจคอทั้งสิ้น

เรา จะเห็นว่า อวัยวะร่างกายของแต่ละคนมีความหยาบความประณีตไม่เหมือนกัน ความอ่อนแอ แข็งแรงไม่เหมือนกัน ผิวพรรณไม่เหมือนกัน บางคนเกลี้ยงเกลา บางคนหยาบกระด้าง รูปร่างหน้าตาก็ผิดแผกกันไป คนในโลกตั้ง ๓ – ๔ พันล้านคนไม่เหมือนกันเลยสักคนเดียว ที่กล่าวนี้ในส่วนหยาบที่มองเห็นได้ด้วยตาธรรมดา อวัยวะที่ละเอียดในร่างกายก็แตกต่างกันไปมากกว่าอวัยวะส่วนที่หยาบเสียอีก

การ ทำงานของร่างกาย หรือสรีรยนต์นี้ยิ่งวิจิตรพิสดารยิ่งนัก ท่านว่าวิจิตรยิ่งกว่าเครื่องจักรใด ๆ ทำไปตั้ง ๘๐ – ๙๐ ปี มิได้หยุดเลย เป็นอัตโนมัติ

ผู้เรียนแพทย์ทางกายวิภาคศาสตร์ ย่อมเห็นแจ้งได้ดีในความอัศจรรย์แห่งการทำงานของร่างกาย เป็นต้นว่า หัวใจและปอด ไตและตับ ตลอดถึงเส้นเอ็นต่าง ๆ

สรีรยนต์ คือกายนี้ ท่านว่าสำเร็จมาแต่กรรม คือคนยังมีกรรมอยู่ก็ยังมีเกิด เมื่อจะเกิด กรรมย่อมแต่งทั้งรูปและนามตามนัยปฏิจจสมุปบาทว่า สังขาร (กรรม) เป็นปัจจัยแห่งวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยแห่งนามรูป

จงดูกายนี้อันกรรมทำให้วิจิตรแล้ว

ข้อว่า มีแผลอยู่ประจำ (อรายํ) นั้นมีอธิบายว่า แผลประจำของกายนี้อย่างน้อยก็มี ๙ แผล อันท่านเรียกว่าทวารทั้ง ๙ คือ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑ รวม ๙

ทวารทั้ง ๙ นี้ เป็นที่ไหลออกแห่งสิ่งโสโครกต่าง ๆ ในกาย หรือจากกาย เป็นต้นว่า ขี้ตาไหลออกจากตาทุกเช้า อุจจาระออกทางทวารหนัก ปัสสาวะออกทางทวารเบา เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ที่ไหลออกจากกายไม่มีความหอมเลย นอกจากแผลประจำทั้ง ๙ แผลนี้แล้ว ยังมีบาดแผลในที่อื่น ๆ เป็นครั้งคราว เช่น แผลมีดบาดให้เลือดออก กลิ่นเลือดนั้นก็คาวน่าสะอิดสะเอียน
ข้อว่า มีกระดูกเป็นโครง (สมุสฺสิตํ) นั้นอธิบายว่า ร่างกายนี้มีเลือด เนื้อ หนัง เอ็น เป็นต้น เกาะติดกันอยู่ไม่กระจัดกระจาย ก็เพราะมีกระดูกเป็นโครงร่างให้ยึดเกาะ ปราศจากกระดูกเสียแล้ว หนัง เอ็น และเนื้อไม่มีที่อาศัย ไม่สามารถทรงตัวเป็นรูปร่างได้ ย่อมกองรวมกันอยู่เหมือนเสื้อหรือกางเกงที่ไม่มีคนสวมวางกองอยู่ฉะนั้น บางแห่งท่านจึงเรียกว่า นครกระดูก ซึ่งมีเนื้อและเลือดเป็นเครื่องฉาบทา

ข้อว่า อาดูรน่าเบื่อหน่าย (อาตุรํ) นั้นอธิบายว่า กายนี้นอกจากมีปากแผลใหญ่ทั้ง ๙ อันเป็นที่ไหลออกแห่งสิ่งโสโครกแล้ว ยังเป็นที่มาที่ตั้งอาศัยอยู่แห่งโรคนานาประการ (โรคนิทฺทํ) โรคตาเกิดที่ตา โรคหูเกิดที่หู โรคจมูกเกิดที่จมูก โรคฟันเกิดที่ฟัน โรคท้องเกิดที่ท้อง เป็นต้น โรคตับโรคปอดก็เหมือนกัน โรคบางอย่างให้ความเจ็บปวดมากมาย โรคบางอย่างให้ความรำคาญ เช่นโรคคัน เป็นต้น โรคบางอย่างเป็นที่รังเกียจของสังคม เป็นแล้วไม่มีใครอยากสนทนาปราศรัยด้วย ไม่มีใครอยากสนิทชิดเชื้อด้วย กายนี้เป็นรังของโรคนานาประการสุดจะพรรณนาให้หมดได้ จึงน่าเบื่อหน่าย

อีก ประการหนึ่ง ภาระเกี่ยวกับการเลี้ยงร่างกาย ถนอมร่างกายให้ดำรงอยู่ต่อไปได้นั้น เป็นภาระอันหนักของทุกคน เพียงแต่การหาข้าวหาน้ำให้ร่างกายอย่างเดียวเท่านั้นก็ก่อให้เกิดความยุ่ง ยากต่าง ๆ ตามมามากมาย การประกอบอาชีพต่าง ๆ ของมนุษย์ ต้องเหน็ดเหนื่อย หนักหน่วงอยู่นั้นก็เพื่อกินเพื่ออยู่ ตนเองคนเดียวก็ไม่สู้กระไรนัก ยังต้องเลี้ยงลูกอีกหลายคน ล้วนเป็นกายที่ต้องกินต้องอยู่ เป็นภาระหนักเพิ่มขึ้นเข้ามาอีก พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความทุกข์เสมอด้วยการบริหารขันธ์ ๕ นั้นไม่มี (นตฺถิ ขนฺธสมา ทุกฺขา) ขันธ์ ๕ เป็นภาระหนัก (ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา)

ลองใช้ปัญญาตรองดูดีๆ เถิด จะมองเห็นอย่างชัดเจนว่ากายของเรานี้เป็นภาระให้เราเพียงใด ดูเหมือนว่าชีวิตทั้งชีวิตต้องยุ่งกับภาระอันนี้

สมมติว่า เราทุกคนไม่มีกาย มีแต่จิต ภาระคงจะลดลงไปไม่น้อยการกินไม่มี ที่อยู่ไม่จำเป็น การเดินทางก็ไม่ต้องอาศัยพาหนะใด ๆ พอคิดก็ไปถึงที่หมายได้ทันที ความเจ็บป่วยทางกายไม่มี เพราะไม่มีกาย ความกำหนัดไม่มีเพราะความกำหนัดในกามอาศัยกายนี้เกิดขึ้น

กายนี้อาดูรน่าเบื่อหน่ายอย่างนี้

ข้อว่า เป็นที่รำพึงถึงของคนมาก (พหุสงฺกปฺปํ) นั้นอธิบายว่า มนุษย์และสัตว์โลกทั้วไปเกิดจากกาม มีกามเป็นแดนเกิด พอรู้ความจิตจึงแล่นไปในแหล่งอันเป็นแดนเกิดของตน ทั้งนี้เพราะจิตได้คลุกคลีกับกามมาหลายร้อยชาติ จึงดิ้นรนลงไปเหมือนปลาเกิดในน้ำคุ้นอยู่กับน้ำ เมื่อยกขึ้นจากน้ำก็พยายามดิ้นรนไปหาน้ำ

วัตถุคือที่ตั้ง แห่งกามก็คือกายนี้ รูปนี้ เสียงนี้ กลิ่นนี้ และรสนี้ กายนี้จึงเป็นที่รำพึงของคนมาก คือกายของชายเป็นที่รำพึงถึงของหญิง กายของหญิงเป็นที่รำพึงของชาย ข้อนี้เป็นธรรมดาสากลแก่สัตว์โลกประเภทอื่น ๆ ด้วย ตัวผู้กับตัวเมียย่อมดึงดูดกัน
กายยิ่งประณีต สวยงามมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นที่รำพึงของคนมากเท่านั้น ก่อให้เกิดกิเลส คือกามราคะแก่ผู้ได้ดูได้เห็นไม่รู้จักจบสิ้น คนที่เกิดมาสวยจะว่ามีบุญก็มีจะว่ามีกรรมก็ได้ คนที่เกิดมาสบายก็คือคนที่ไม่สวยมากนัก ไม่ขี้เหร่จนเกินไป คือคนกลาง ๆ เพิ่มความน่ารักเอาที่ความดี เพิ่มความน่าเกลียดเอาที่ความชั่ว

คน เกิดมามีกามราคะติดมาด้วยทุกคน ไม่ต้องฝึกต้องสอนก็รู้ ใคร่รู้กำหนัดในเพศตรงกันข้าม นี่แสดงว่าได้เคยคลุกคลีกับกามมาในชาติก่อน ๆ แล้วด้วย ยังมีอาลัยในกาม จึงมาเกิดในกามภพนี้อีก อาการที่ใจยังมีอาลัยในกามนั้นเรียกกัมมภพ การที่ไปเกิดในกัมมภพตามความใคร่นั้นเรียกอุบัติภพ กัมมภพและอุบัติภพจึงสืบเนื่องกันไม่ขาดจากกันได้ มีกัมมภพอยู่ตราบใด อุบัติภพจึงสืบเนื่องกันไม่ขาดจากกันได้ มีกัมมภพอยู่ตราบใด อุบัติภพก็มีอยู่ตราบนั้น เหมือนไฟกับความร้อน

ด้วย เหตุที่บุคคลปรารถนากาม กามต้องอาศัยกายเป็นที่ระบาย เป็นที่ก่อให้เกิดความพอใจในกามนั้น กายจึงเป็นที่รำพึงถึงของคนมาก เปรียบเหมือนคนกระหายน้ำ น้ำนั้นบรรจุอยู่ในถัง สายตาของผู้กระหายจึงส่ายหาถังน้ำอยู่เนือง ๆ ยิ่งกระหายมากก็ยิ่งซัดส่ายหามากขึ้น

บุคคลผู้ไม่ปรารถนา กามย่อมไม่รำพึงถึงกายใดกายหนึ่ง ไม่ปรารถนาสัมผัสกาย ไม่มองดูกายด้วยความกำหนัด แต่จะมองดูกายในฐานะเป็นประมวลแห่งกองกระดูก กองเลือด และเนื้อเท่านั้น

จงดูกายนี้อันกรรมทำให้วิจิตรแล้ว มีแผลอยู่ประจำ มีกระดูกเป็นโครง อาดูรน่าเบื่อหน่าย แต่เป็นที่รำพึงถึงของคนมาก

No comments: