พระพุทธพจน์ | |
โย น หนฺติ น ฆาเตติ | น ชินาติ น ชาปเย |
เมตฺตโส สพฺพภูตานํ | เวรนฺตสฺส น เกนจิ. |
ผู้ใดไม่ฆ่า (สัตว์) เอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า | |
จาก เมตตสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๙๑ | |
| อสาธุ สาธุนา ชิเน |
ชิเน กทริยํ ทาเนน | สจฺเจนาลิกวาทินํ. |
พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ | |
จาก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท โกธวรรค ข้อ ๒๗ | |
ชยํ เวรํ ปสวติ | ทุกฺขํ เสติ ปราชิโต |
อุปสนฺโต สุขํ เสติ | หิตฺวา ชยปราชยํ. |
ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์ | |
จาก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สุขวรรค์ ข้อ ๒๖ |
อยู่ด้วยความรัก |
ประณีต ก้องสมุทร |
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนให้ทุกคนตั้งตนอยู่ในเมตตา คือ ความรักใคร่ปรารถนาดีต่อกัน
เห็นอกเห็นใจกัน ปราศจากการรังเกียจเดียดฉันท์ และริษยากัน ให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราว่า เราต้อง
การความสุข เกลียดกลัวความทุกข์ฉันใด คนอื่นก็ต้องการความสุข เกลียดกลัวความทุกข์ฉันนั้น
เมตตา จึงหมายถึงความเป็นมิตรไมตรีกัน ผู้ที่เรายกย่องว่าเป็นมิตร คือผู้ที่ปรารถนา
ดีต่อเรา
เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้ชื่อว่า มิตร จึงต้องประกอบด้วยเมตตา
ถ้าทุกคนเพียงแต่เมตตารักใคร่ปรารถนาดีต่อกันเท่านั้นโลกทั้งโลกจะสดชื่นแจ่มใส ไม่ว่าท้องฟ้า
จะสว่างไสวอำไพไปด้วยแสงแดด หรือว่ามืดครึ้มไปด้วยเมฆฝน ไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก ที่พำนักพักพิง
ของเราจะเล็กหรือใหญ่ น่ารื่นรมย์หรือไม่ ก็ไม่เห็นเดือดร้อน ในเมื่อจิตใจของเราเองก็แจ่มใส ทั้งมองไปทาง
ไหนก็พบแต่คนที่หน้าตาสดใสเบิกบาน เจรจาปราศรัยกันด้วยหน้าตายิ้มแย้ม และด้วยท่วงท่าที่น่ารักแสดงถึง
ความเป็นมิตร
เพียงแต่เขียน เพียงแต่พูด หรือเพียงแต่ฟังว่าให้ทุกคนมีเมตตาต่อกัน ก็ดูไม่ยาก แต่การปฏิบัติให้
ได้อย่างที่เขียน พูด และที่ฟังนั้นไม่ง่ายนัก ต้องใช้ความอดทนอดกลั้น พระพุทธเจ้า ตรัสเรียกว่า "ขันติ" คือ
อโทสะ ความไม่โกรธ มากเป็นพิเศษ
คนที่ไม่โกรธ จึงเป็นคนน่ารักมาก หรือแม้จะโกรธ แต่ระงับไว้ได้ ไม่แสดงให้ปรากฏก็ยังน่ารัก
สำหรับบุคคลที่เรารักเราชอบ แม้ว่าเขาจะทำให้เราไม่พออกพอใจบ้า เราก็สามารถจะเมตตาได้
ง่าย ด้วยการใช้ขั้นติ ความอดทนอดกลั้นเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
แต่สำหรับบุคคลที่เราไม่รักไม่ชอบนั้น แม้เขาจะไม่ได้ทำอะไรให้ขัดเคือง ก็ยากที่จะเมตตาเป็นมิตร
ด้วยอยู่แล้วถ้ายิ่งทำให้เราขัดเคืองไม่พอใจแม้สักนิด เราก็จะพาลโกรธ พาลเกลียดมากขึ้น เราจึงต้องใช้ความ
อดทนมากเหลือเกิน ในการที่จะไม่โกรธ หรือไม่แสดงอาการขุ่นเคืองให้ปรากฏ และในการที่จะอภัยให้
ทั้งๆ ที่รู้กันทุกคนว่า ความโกรธเป็นของไม่ดี ความผูกโกรธเป็นของไม่ดี ความอาฆาตเป็นของ
ไม่ดี เพราะทำให้จิตใจเร่าร้อน กระวนกระวายไม่เป็นสุข ทั้งหน้าตาก็พลอยเศร้าหมองเป็นทุกข์ แต่ทุกคนก็
ยากที่จะตัดมันออกไปจากใจ ซ้ำบางคนยังชอบเก็บสะสมเอาไว้อีกด้วย
ก็ทำไมเราจะลืมความไม่พออกพอใจ ที่ใครๆ เขาทำต่อเราเสียไม่ได้หรือ อภัยให้แก่กันเสียไม่
ได้หรือ ใช้เมตตาเข้าหากัน ถ้าทำได้จิตใจก็จะไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย หน้าตามก็พลอยแจ่มใสเบิกบาน
เป็นสุขทุกเมื่อรักกันไว้เถิด จะเกิดสุข
คนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันเพียงไม่กี่วัน ก็ยังยากที่จะหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกัน ยิ่งถ้า
ต้องมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ก็ดูจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันไม่ได้หากเราไม่เมตตารัก
ใคร่กันไว้ เราจะอยู่ร่วมกันด้วยความรักและเป็นสุขได้อย่างไร
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมะไว้หมวดหนึ่งให้ผู้ที่อยู่ร่วมกันประพฤติปฏิบัติ ธรรมะหมวดนั้นคือ
สาราณียธรรม ธรรมที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ถ้าทุกคนใช้สาราณียธรรมกันแล้วความผาสุกต้องเกิดขึ้น
แน่นอน
สาราณียธรรมมีอยู่ ๖ ประการคือ
๑. การเข้าไปตั้งเมตตากายกรรมต่อกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง นั่นคือทรงสอนให้มีน้ำใจช่วย
เหลือกันทางกายทั้งต่อหน้าและลับหลัง การช่วยเหลือกันต่อหน้านั้น ทุกคนทราบดีและเคยทำ แต่การช่วย
เหลือลับหลังนั้นทำอย่างไรเป็นต้นว่า เราเห็นเสื้อผ้าของคนอื่นเขาตากไว้กลางแจ้ง แต่ฝนเกิดตกในขณะ
ที่เจ้าของไม่อยู่ เราก็สงเคราะห์ช่วยเก็บให้พ้นจากเปียกฝน โดยไม่คำนึงว่าเจ้าของเสื้อผ้านั้นเป็นคนที่เรา
รักหรือไม่รัก เมื่อเจ้าของกลับมาทราบการกระทำของเรา หากเป็นคนที่ชอบพอกัน ก็แน่ละ เขาต้องขอบ
อกขอบใจ แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบหน้ากัน เขาอาจจะไม่เอ่ยปากขอบใจเรา แต่แน่นอนที่ใจของเขาจะต้อง
นึกถึงการกระทำของเรา นี่ก็เป็นการค่อย ๆ ปลูกความรักลงในใจของผู้อื่นแล้วมิใช่หรือ
๒. การเข้าไปตั้งเมตตาวจีกรรมต่อกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง การพูดถึงผู้อื่นในด้านดีทั้งต่อ
หน้าและลับหลังนั่นแหละชื่อว่าได้แสดงความรักใคร่กันด้วยวาจา
๓. การเข้าไปตั้งเมตตามโนกรรมต่อกัน ข้อนี้หมายถึงให้นึกถึงผู้อื่นในด้านดี คิดช่วยเหลือผู้อื่น
สงเคราะห์ผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง เป็นการแสดงความรักใคร่กันทางใจ
๔. แบ่งปันลาภที่ได้มาโดยชอบธรรมแก่ผู้อยู่ร่วมกัน
๕. เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
๖. มีทิฏฐิ คือความเห็นเสมอกัน
จากสาราณียธรรม ๖ ประการนี้ สามประการแรก พระพุทธองค์ทรงสอนให้เมตตากันทั้งทางกาย
วาจา ใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่ใช่ว่าต่อหน้าก็ทำเป็นเมตตารักใคร่ แต่ลับหลังก็นินทาว่าร้ายหรือยุยงส่อ
เสียด ให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความแตกแยก หรือความคิดอยากให้เขามีอันเป็นไปในทางร้าย
ถ้าเราเมตตากันเฉพาะต่อหน้า แต่ลับหลังขาดเมตตาแล้ว เราก็ยังอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกโดยแท้จริงไม่ได้
นอกจากพระพุทธองค์จะทรงสอนให้เรามีเมตตาต่อกันทั้งทางกาย วาจา ใจ และทั้งต่อหน้าและลับ
หลังแล้ว ก็ยังทรงสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันด้วย ได้สิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน ไม่ตระหนี่ถี่เหนียวกันใช้แต่ลำพัง
เพราะการให้เป็นการผูกมิตรไว้ได้ประการหนึ่ง
พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้อื่น และคนหมู่มากย่อมคบหาสมาคมด้วย ยิ่งให้ของดี
ของที่เราชอบใจ ของที่เลิศ นอกจากผู้รับจะชื่นชมแล้ว ผู้ให้ก็จะได้รับแต่ของดี ของชอบใจ ของเลิศ เป็นการ
ตอบแทนในอนาคตด้วย ยิ่งให้บ่อยๆ บุญของผู้ให้ย่อมมากขึ้น เจริญขึ้นเกิดชาติใดก็ไม่ขัดสนยากจนทั้งทรัพย์
สมบัติและคนรักใคร่เอ็นดู
สาราณียธรรมข้อที่ ๕ ทรงสอนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์เพราะการเป็นผู้มีศีล ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่
ทำให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยความสุข คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนอย่างพวกเรา ไม่จำเป็นต้องมีศีลมากมายเหมือนพระ
ภิกษุ เพียงมีศีลกันคนละ ๕ ข้อเท่านั้น ก็เพียงพอแล้วที่จะอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก นั้นคือ
ศีลข้อที่ ๑ เว้นการฆ่าสิ่งมีชีวิต ซึ่งได้แก่ มนุษย์และสัตว์ เรารู้กันดีทุกคนว่า การถูกฆ่าเป็นทุกข์
หนัก เราเองก็ไม่อยากให้ใครมาฆ่าเรา หรือแม้เพียงมาทำร้ายเราให้บาดเจ็บเพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรฆ่า
ผู้อื่น สัตว์อื่น ทั้งไม่ควรใช้ผู้อื่นฆ่าแทนเราด้วย การฆ่านั้นนอกจากจะทำให้ผู้ถูกฆ่าได้รับทุกข์หนักแล้ว ยัง
เป็นการก่อเวรก่ออภัยแก่สัตว์ทั้งหลายด้วย แม้เราผู้ฆ่าเองก็ได้รับความทุกข์ ยิ่งฆ่าบ่อยก็ยิ่งทุกข์มาก
พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ฆ่าสัตว์ตายไปแล้ว หากกรรมคือการฆ่าสัตว์ให้ผลย่อมให้ผลนำเกิดในอบาย แม้เมื่อ
เกิดเป็นมนุษย์ก็จะเป็นผู้มีอายุไม่ยืน คือตายเสียตั้งแต่ในวัยอันไม่ควรจะตายแม้ไม่ได้ฆ่าสัตว์ เพียงเบียด
เบียนสัตว์ให้เดือดร้อน ก็ยังทำให้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีโรคภัยเบียดเบียนอยู่เสมอ หรือที่เรียกว่าเป็นโรคมาก
ศีลข้อที่ ๒ เว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ ของสิ่งใดที่เจ้าของเขามิได้อนุญาต ก็อย่า
ได้ไปหยิบฉวยเอามาเป็นของเรา หรือใช้ผู้อื่นหยิบฉวยแทนเรา เรารักของของเรา หวงแหนของของเรา
อย่างไร คนอื่นเขาก็รักก็หวงแทนของของเขาอย่างนั้น การไปหยิบเอาของของเขามาโดยเจ้าของเขาไม่
เต็มใจ ไม่ยินดีให้ย่อมเป็นเหตุให้เจ้าของเกิดความขัดเคือง ขุ่นใจ หรือไม่ชอบหน้าเราไปจนตายก็ได้ โทษ
ของการผิดศีลข้อนี้อย่างหนักทำให้เกิดในอบาย อย่างเบาทำให้ทรัพย์สมบัติพินาศไปด้วยภัยนานัปการมี
อัคคีภัยเป็นต้อ ในเมื่อผู้นั้นเกิดเป็นมนุษย์
ศีลข้อที่ ๓ เว้นจากการประพฤติผิดประเวณี คือการล่วงเกินบุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น ธรรมดา
นั้น บุตร ภรรยา สามีย่อมเป็นที่รักที่หวงแหนของผู้เป็นเจ้าของ ไม่ต้องการให้ใครมาล่วงเกินหรือทำมิดีมิร้าย
ผู้ที่ล่วงเกินบุตร ภรรยา สามีของผู้อื่นจึงเป็นการก่อเวรโดยไม่รู้ตัว เพราะการกระทำเช่นนั้นก่อให้เกิดความ
เจ็บแค้นแก่ผู้ถูกกระทำ ทั้งอาจเป็นเหตุให้ผู้เป็นเจ้าของตลอดจนพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง มิตรสหาย ของผู้ที่ถูก
ล่วงเกินอาฆาต เจ็บแค้น หรือทำร้ายฆ่าตีเอาได้ ดังตัวอย่างที่เราได้พบเห็นกันอยู่เสมอ
โทษของการผิดศีลข้อที่ ๓ นี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าอย่างหนัก ทำให้เกิดในอบาย
อย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ที่มีเพศไม่สมบูรณ์ หรือมีสองเพศ ทั้งเป็นผู้มี
ศัตรูคู่เวรมาก
ศีลข้อที่ ๔ เว้นจากการกล่าวเท็จ คือกล่าวคำที่ไม่เป็นจริง โทษอย่างหนักทำให้เกิดในอบาย
โทษอย่างเบาเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ คือการถูกกล่าวตู่ด้วยถ้อยคำที่ไม่เป็นจริง ทั้งจะพูดสิ่งใดก็ไม่ได้รับความ
เชื่อถือจากผู้ฟัง
ศีลข้อที่ ๕ เว้นจากการดื่มสุราเมรัย และสิ่งเสพติดของมึนเมาทุกชนิด อันจะเป็นเหตุให้เกิด
ความประมาท ขาดสติ คนเราถ้าประมาทขาดสติแล้วก็อาจจะล่วงศีลได้ครบทุกข้อ ทั้งการเสพของมึนเมา
เหล่านั้นก็เป็นการบั่นทอน สติปัญญา ให้เสื่อมถอย ความจำเลอะเลือน เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัส
ว่า โทษอย่างหนักของผู้ล่วงศีลข้อ ๕ นี้ คือ การเกิดในอบาย โทษอย่างเบาเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์
ที่จิตใจไม่ปกติเป็นต้น
ศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ นอกจากจะเป็นศีลที่ทุกคนควรรักษาเป็นนิจ เพื่อความเป็นปกติสุขของตนเอง
และผู้อื่นแล้ว ผู้รักษายังชื่อว่าได้บำเพ็ญทานอย่างใหญ่หลวง กล่าวคือให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยแก่มนุษย์
และสัตว์ทั้งมวลด้วย เพราะ :-
ผู้รักษาศีลข้อที่หนึ่ง ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์ ไม่ทำให้สัตว์ต้องหวั่นวิตกและหวาด
กลัวว่าจะถูกฆ่า
ผู้รักษาศีลข้อที่สอง ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น
ผู้รักษาศีลข้อที่สาม ชื่อว่าให้ความบริสุทธิ์แก่บุตร ภรรยา สามี ของผู้อื่น
ผู้รักษาศีลข้อที่สี่ ชื่อว่าให้ความจริงแก่ผู้อื่น
ผู้รักษาศีลข้อที่ห้า ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง คือ ให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์ ให้ความ
ปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น ให้ความบริสุทธิ์แก่บุตร ภรรยา สามีผู้อื่น และให้ความจริงแก่ผู้อื่น
เพราะเหตุที่ผู้รักษาศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ ได้ชื่อว่าให้ความไม่มีเวรไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย
พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกศีลทั้ง ๕ ข้อ นี้ว่า มหาทาน เพราะเป็นทานที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ ไม่มีทานชนิด
ใดเสมอเหมือน
ทาน นั้น แปลว่า การให้ การให้สิ่งของแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นของดีมีค่าเพียงใด พระพุทธองค์
ทรงเรียกว่า ทาน เท่านั้น หาได้ทรงเรียกว่า มหาทาน ดังที่ทรงเรียกศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ไม่
ด้วยเหตุนี้ ศีล จึงสูงกว่าทาน ละเอียดอ่อนกว่าทาน ขัดเกลากิเลสได้ยิ่งกว่าทาน
หากทุกคนพร้อมใจกันรักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว เราก็จะอยู่ในโลกนี้ร่วมกันด้วยความ
เป็นสุขจริง ๆ เพราะต่างคนต่างก็พร้อมใจกันในการให้ความไม่มีเวรไม่มีภัยแก่กัน
เพราะฉะนั้น การมีศีล จึงเป็นสาราณียธรรมอีกข้อหนึ่ง ที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข
สาราณียธรรมข้อสุดท้าย คือ เป็นผู้มีทิฏฐิความเห็นเสมอกัน
ทิฏฐิความเห็นในที่นี้ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือเห็นว่าบุญบาปมีจริงเป็นต้น คนเรา
ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกัน คนหนึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่อีกคนหนึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิจะอยู่ร่วมกันเป็นสุขได้อย่างไร
มีแต่จะถกเถียงทะเลาะวิวาทกัน เพราะความเห็นที่ขัดแย้งกันเท่านั้น ถึงอย่างนั้นหากทั้งสองฝ่ายมีเมตตา
อภัยให้กันแล้ว ก็ยังพอจะอยู่ร่วมกันได้ แม้จะไม่เป็นสุขนักก็ตาม
สาราณียธรรม ๖ ข้อดังกล่าวนี้แหละ ที่จะเป็นเหตุให้ระลึกถึงกันด้วยความรักความเอ็นดู และอยู่
ร่วมกันอย่างเป็นสุข ไม่ทะเลาะวิวาทกัน
ในการเจริญสมณธรรมในป่า พระพุทธองค์ก็ทรงสอนให้ภิกษุที่ถูกเทวดาและอมนุษย์รบกวนเจริญ
เมตตา ดังมีกล่าวไว้ใน เมตตสูตร ขุ. ขุททกปาฐะ ข้อ ๑๐ ว่า
กรณียมตฺถกุสเลน
ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ
สกฺโก อุชู จ สุหุชู จ
สุวโจ จสฺส มุทุ อนติมานี
สนฺตุสฺสโก จ สุภโร จ
อปฺปกิจฺโจ จ สลฺลหุกวุตฺติ
สนฺตินฺทฺริโย จ นิปโก จ
อปฺปคพฺโภ กุเลสุ อนนุคิทฺโธ
น จ ขุทฺทํ สมาจเร กิญฺจิ
เยน วิญฺญู ปเร อุปวเทยฺยุํ
สุขิโน วา เขมิโน โหนฺตุ
สพฺเพ สตฺตา ภวนฺตุ สุขิตตฺตา
เย เกจิ ปาณภูตตฺถิ
ตสา วา ถาวรา วา อนวเสสา
ทีฆา วา เย มหนฺตา วา
มชฺฌิมา รสฺสกา อณุกถูลา
ทิฏฺฐา วา เย จ อทิฏฺฐา
เย จ ทุเร วสนฺติ อวิทูเร
ภูตา วา สมฺภเวสี วา
สพฺเพ สตฺตา ภวนฺตุ สุขิตตฺตา
น ปโร ปรํ นิกุพฺเพถ
นาติมญฺเญถ กตถจิ นํ กิญฺจิ
พฺยาโรสนา ปฏีฆสญฺญา
นาญฺญมญฺญสฺส ทุกฺขมิจฺเฉยฺย
มาตา ยถา นิยํ ปุตฺตํ
อายุสา เอกปุตฺตมนุรกฺเข
มานสมฺภาวเย อปริมาณํ
เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ
มานสมฺภาวเย อปริมาณํ
อุทฺธํ อโธ จ ติริยญฺจ
อสมฺพาธํ อเวรํ อสปตฺตํ
ติฏฺฐนฺจรํ นิสินฺโน วา
สยาโน วา ยาว ตสฺส วิคตมิทฺโธ
เอตํ สตึ อธิฏฺเฐยฺย
พฺรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ
ทิฏฺฐิญฺจ อนุปคมฺม
สีลวา ทสฺสเนน สมฺปนฺโน
กาเมสุ วิเนยฺย เคธํ
น หิ ชาตุ คพฺภเสยฺยํ ปุนเรตีติ.
แปลว่า
กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้ สันติบท พึงบำเพ็ญไตรสิกขา กุลบุตรนั้น
พึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความ
ประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบแล้ว มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย และ
ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ พึงเจริญเมตตาในสัตว์ทั้ง
หลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่ง
มีอยู่ เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ไม่มีส่วนเหลือ
สัตว์เหล่าใด มีกายยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น ผอมหรือพี ที่เราเห็นแล้วหรือไม่ได้เห็น
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ที่เกิดแล้วหรือแสวงหาที่เกิด ขอสัตว์ทั้งหมดนั้น จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด
สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขา ในที่ไหนๆ ไม่พึงปรารถนาทุกข์ให้แก่กันและกัน
เพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้น มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละ
ชีวิตได้ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น
กุลบุตรนั้นถึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ ไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง
ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู กุลบุตรผู้เจริญเมตตานั้น ยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็น
ผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น บัณฑิตทั้งหลาย กล่าววิหารธรรมนี้ ว่าเป็นพรหม
วิหารในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้ และกุลบุตรผู้เจริญเมตตา ไม่เข้าไปอาศัยทิฏฐิ เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อม
แล้วด้วยทัสสนะ นำความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้แล
ครั้นเมื่อภิกษุเจริญเมตตาดังกล่าวนี้แล้ว เทวดาและมนุษย์ก็เกิดความเอ็นดู ไม่รบกวนภิกษุนั้น
พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของเมตตาไว้ ๑๑ อย่าง ดังนี้ คือ
๑. หลับก็เป็นสุข ๒. ตื่นก็เป็นสุข ๓. มีหน้าตาผ่องใสเบิกบาน ๔. ไม่ฝันร้าย ๕. เป็น
ที่รักของมนุษย์ ๖. เป็นที่รักของเทวดาและอมนุษย์ ๗. เทวดารักษา ๘. ไม่เป็นอันตรายด้วยยาพิษ
หรือศาสตรา ๙. จิตเป็นสมาธิ ๑๐. เมื่อจะตายมีสติไม่หลงตาย ๑๑. หากไม่บรรลุมรรคผลในชาตินี้
ก็จะได้ไปเกิดในพรหมโลก ( ข้อนี้หมายเฉพาะผู้ที่เจริญเมตตาจนได้ญาณ )
ผู้ที่เจริญเมตตาย่อมได้รับอานิสงส์ดังกล่าวนี้ ควรหรือไม่ที่เราจะมีเมตตาต่อกัน ปรารถนาดี
ต่อกัน และอภัยให้กัน เพราะนอกจากตัวเราจะเป็นสุขแล้ว ผู้อื่นก็ยังเป็นสุขด้วย แต่ผู้ที่จะเจริญเมตตา
ให้ได้ผลนั้น ต้องอาศัยขันติธรรม คือ ความอดทน อดกลั้น ไม่โกรธตอบ ควบคู่กันไปด้วย ดังเรื่องของ
นางอุตตรา ที่จะยกมาเล่าดังต่อไปนี้
นางอุตตรา เป็นธิดาของนายปุณณะ ซึ่งเป็นคนยากจน อาศัยอยู่ในเรือนของสุมนเศรษฐี
วันหนึ่งเมื่อนายปุณณะไปไถนา ภรรยาเอาอาหารไปส่ง ได้พบท่านพระสารีบุตรระหว่างทาง จึงเอาอาหาร
ที่เป็นส่วนของนายปุณณะถวายท่านพระสารีบุตรเสียก่อนด้วยความเลื่อมใส แล้วจึงกลับไปทำอาหารมาให้
ใหม่ นายปุณณะทราบแทนที่จะโกรธ กลับชื่นชมอนุโมทนา พร้อมกับเล่าว่า ตนก็ได้ถวายไม้สีฟันและน้ำ
ล้างหน้าแก่ท่านพระสารีบุตรผู้ออกจากนิโรธสมาบัติมาใหม่ๆ ด้วย ครั้นบริโภคอาหารแล้ว นอนหลับไป
ด้วยความเมื่อยล้าจากการไถนา พอตื่นขึ้นมาก็ได้เห็นก้อนดินที่ตนไถไว้กลายเป็นทองไปหมด จึงไปกราบ
ทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาทรงให้ขนทองมาไว้ที่พระลานหลวง แล้วทรงมอบให้นายปุณณะทั้งหมด
พร้อมกับพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้แก่นายปุณณะ ผลของบุญได้เกิดแก่นายปุณณะในวันนั้นเอง
เมื่อเป็นเศรษฐีแล้วได้ถวายทานแก่พระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน ในวันที่
๗ พระพุทธองค์ทรงกระทำอนุโมทนา นายปุณณะ ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พร้อมทั้งภรรยาและนาง
อุตตราธิดา
ต่อมาสุมนเศรษฐี ขอนางอุตตราให้แก่บุตรชายของตน ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ปุณณเศรษฐีจึงไม่
ยอมยกธิดาให้ สุมนเศรษฐียกเอาความคุ้นเคยที่มีมาแต่ก่อนขึ้นมาอ้าง ถึงอย่างนั้นปุณณะเศรษฐีก็ไม่ยอม
ยกธิดาให้ ต่อเมื่อสุมนเศรษฐีรับว่าจะจัดหาดอกไม้มีค่าวันละ ๒ กหาปณะมาให้นางอุตตราบูชาพระพุทธเจ้า
ปุณณะเศรษฐีจึงตกลงยกให้
เมื่อนางอุตตรามาอยู่บ้านสามีแล้ว ได้ขออนุญาตสามีรักษาอุโบสถศีล เดือนละ ๘ วัน ตามที่
เคยกระทำเมื่ออยู่บ้านบิดา แต่สามีไม่อนุญาต นางคอยจนถึงวันเข้าพรรษาจึงขออนุญาตอีก สามีก็ไม่ยิน
ยอม ครั้นอีกครึ่งเดือนจะออกพรรษา นางจึงส่งข่าวไปเล่าเรื่องให้บิดามารดาทราบ พร้อมกับขอเงิน
๑๕,๐๐๐ กหาปณะ เมื่อได้รับเงินแล้ว นางอุตตราก็จ้างนางสิริมา หญิงโสเภณีในนครนั้น ให้มาทำหน้าที่
ภรรยาแทนตน ตลอดเวลาครึ่งเดือน ที่นางจะรักษาอุโบสถ ด้วยค่าจ้าง ๑๕,๐๐๐ กหาปณะ ซึ่งสามีก็ยินดี
ว่าจะได้เสพสุขกับนางสิริมา จึงยินยอมให้ภรรยารักษาอุโบสถได้ตามปรารถนา
ตั้งแต่นั้นมา นางอุตตราก็ตระเตรียมอาหารด้วยมือของตนแต่เช้าตรู่ทุกวัน ถวายพระบรมศาสดา
และภิกษุสงฆ์ อธิษฐานอุโบสถศีล แล้วขึ้นไปอยู่บนปราสาท ระลึกถึงศีลของตนอยู่ นางทำดังนี้ จนครบครึ่ง
เดือน ในวันที่จะสละอุโบสถ ได้จัดแจงข้าวปลาอาหารเป็นอันมาก เตรียมจะถวายพระศาสดาอยู่ในครัวกับ
พวกทาสีแต่เช้าตรู่ สามีอยู่บนปราสาทกับนางสิริมา มองลงมาแล้วก็ยิ้มด้วยคิดว่า หญิงนี้ละทิ้งสมบัติมาก
มาย มาทำครัวจนเนื้อตัวเปรอะเปื้อน มอมแมมไปด้วยเขม่าไฟ นางอุตตราเห็นแล้วทราบความคิดของ
สามี จึงคิดว่า สามีเรานี้โง่แท้ๆ สำคัญว่าสมบัติมากมายของตนจะมั่นคงถาวรทุกเวลา แล้วก็ยิ้มบ้าง นาง
สิริมาเห็นแล้วโกรธว่า ดูสิ ทั้งที่เราก็ยืนอยู่ที่นี่ นางทาสีนี้ก็ยังยิ้มแย้มกับสามีเรา ได้รีบลงจากปราสาทมา
โดยเร็ว
ตอนนี้นางสิริมา ลืมตัวว่า ตนรับจ้างนางอุตตราปรนนิบัติสามีของนางอุตตรา คิดว่าตนเป็นภรรยา
นางอุตตราเป็นทาสีมายิ้มกับสามีของตนจึงโกรธ นางอุตตราเห็นอาการของนางสิริมาแล้ว รู้ว่านางโกรธ จึง
เข้าเมตตาฌาน แผ่เมตตาไปในนางสิริมา นางสิริมาลงมาแล้วก็เอากระบวยตักน้ำมันร้อน ๆ ในกระทะทอด
ขนม ราดลงบนศีรษะของนางอุตตรา แต่ด้วยอำนาจเมตตาฌาน น้ำมันเดือด ๆ นั้นก็ไหลกลับไปเหมือนน้ำ
ที่ราดลงบนในบัวฉะนั้น
พวกทาสีของนางอุตตราเห็นเช่นนั้น ก็บริภาษนางสิริมาว่า รับค่าจ้างจากนายของพวกเราแล้ว
ยังมาทำร้ายนายของพวกเราอีก นางสิริมาฟังแล้วก็ได้สำนึกว่า ตนเป็นเพียงภรรยาที่เขาจ้างมาเท่านั้น
จึงหมอบลงแทบเท้านางอุตตราขอโทษ นางอุตตราบอกให้ไปขอโทษพระพุทธองค์ ถ้าพระพุทธองค์ทรง
ยกโทษให้ ตนก็จะยกโทษให้ ดังนั้นเมื่อพระศาสดาเสด็จมาเสวยที่เรือนของนางอุตตรา นางสิริมาจึงเข้า
ไปหมอบแทบพระบาทกราบทูลถึงความผิดของตน พร้อมกับทูลขอให้พระศาสดาทรงยกโทษให้
พระศาสดาก็ทรงยกโทษให้ นางสิริมาจึงไปขอให้นางอุตตรายกโทษให้ ซึ่งนางอุตตราก็ยกโทษให้
ในวันนั้น เมื่อพระศาสดา ทรงอนุโมทนาภัตทานของนางอุตตราได้ตรัสพระคาถาว่า พึงชนะ
คนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดี ด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ พึง
ชนะคนพูดเท็จด้วยคำจริง พอจบคาถา นางสิริมา ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน เป็น
อันว่า การเจริญเมตตาของนางอุตตรา นอกจากจะทำให้นางอุตตราไม่เป็นอันตรายจากน้ำมันเดือดๆ
แล้ว ยังเป็นปัจจัยให้นางสิริมาสำนึกถึงความผิดของตน ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุเป็นพระโสดาบันด้วย
เมตตา จึงมีอานิสงส์มาก อย่างนี้
ในการแสดงเมตตานี้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ผู้เจริญเมตตาได้รับอานิสงส์ทั้ง ๓ ประการ คือ
อานิสงส์ที่พึงได้รับในปัจจุบัน ๑ อานิสงส์ที่จะพึงได้รับในอนาคต ๑ และอานิสงส์อันเป็นปรมัตถประโยชน์
คือ การบรรลุมรรค ผล นิพพาน อีก ๑
นั่นคือมิให้หยุดอยู่เพียงได้เมตตาฌานเท่านั้น แต่ยังทรงสอนให้ใช้ฌานนั้นเป็นบาท ก้าวขึ้นสู่
วิปัสสนา จนผ่านวิปัสสนาญาณไปตามลำดับ บรรลุ มรรค ผล นิพพาน เป็นพระอรหันต์ ผู้ที่บรรลุเป็น
พระอรหันต์แล้วเท่านั้น ที่เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ คือปรินิพพานแล้วไม่เกิดอีก อันเป็นจุดหมายสูงสุดใน
พระศาสนานี้ ไม่มีในศาสนาอื่น
นี่คือ พระมหากรุณาธิคุณที่พระพุทธองค์ทรงมีแก่สรรพสัตว์โดยแท้
และนี่แหละ คือ อานิสงส์ที่แท้จริงของการอยู่ด้วยกัน ด้วยความรัก คือเมตตา
อยู่ด้วยความรัก |
ประณีต ก้องสมุทร |
ขอขอบคุณ คุณนวชนก โพธิ์เจริญ [ ผู้คัดลอก และตรวจทาน ] |
จัดทำเมื่อ 29 เมษายน พ.ศ. 2545 ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn07.html |
No comments:
Post a Comment