Wednesday, June 20, 2007

ไม้พุทธประวัติ...สาละ



ไม้พุทธประวัติ
เป็นหนังสือที่เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์ ดร.พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษอนุกรมวิธานพืชด้านสมุนไพร ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเจตนาจะให้เป็นเอกสารอ้างอิงสนับสนุนการดำเนินงาน
" สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน" ด้วยเห็นว่าเอกสารในการสืบค้นและจำแนกพรรณไม้ของเรา
ยังมีอยู่น้อย อีกทั้งจากที่ได้ติดตามเยี่ยมเยียนโรงเรียนสมาชิกในพื้นที่นอกกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดส่วนใหญ่มีพื้นที่มาก และมักมีต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ให้ความร่มรื่น บ้างก็มีศาลาหรือซุ้มไม้ให้เด็กนักเรียนใช้เป็นที่พักผ่อน หรือทำกิจกรรมด้านต่างๆ รวมทั้ง
เป็นที่อบรมทางศาสนา ฟังเทศน์ ปฎิบัติธรรม ฝึกสมาธิ ซึ่งทางโครงการฯ ได้แนะนำให้โรงเรียนจัดพรรณไม้ในพุทธประวัติมาปลูกเสริมเพื่อให้เด็กๆได้รู้จัก เป็นการให้ความรู้และเป็นสื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งเป็นเป้า
ประสงค์ของโครงการฯ

ที่มา http://www.rspg.thaigov.net



สาละ
Shorea robusta Roxb.


ชื่อพื้นเมือง สาละ (กรุงเทพฯ)
ชื่อบาลี สาล 2,3,4 (สา-ละ), อสสกณณ (อัส-สะ-กัน-นหะ),
อสสกณณโณ (อัส-สะ-กัน-โน), สาโล1 (สา-โล)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea robusta Roxb.
ชื่อสามัญ Sal, Shal, Sakhuwan, Sal Tree,
Sal of India, Religiosa
ชื่อวงศ์ Dipterocarpaceae
ถิ่นกำเนิด ทางเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งปัจจุบันคือประเทศ
เนปาล
สภาพนิเวศน์ ชอบขึ้นในที่ชุ่มชื้น
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ดได้ผลดี ถ้าใช้ทาบกิ่ง ตอนกิ่ง ติดตา
จะได้ผลน้อยมาก
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง ใช้ทำธูป ทางยา
ยางต้นใช้เป็นยาฝาดสมาน




สาละ เป็นคำสันสกฤต อินเดียเรียกต้นสาละว่า "Sal" เป็นไม้ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง ทั้งตอนประสูติ
ตรัสรู้ และปรินิพพาน มีความสำคัญในพุทธประวัติดังนี้

ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ
ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระพุทธมารดาคือพระนางสิริมหามายาทรงครรภ์
์ใกล้ครบกำหนดพระสูติการ จึงเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อไปมีพระสูติ
การที่กรุงเทวทหะ อันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียม
ประเพณีพราหมณ์ เมื่อขบวนเสด็จมาถึงครึ่งทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับ
กรุงเทวทหะ ณ ที่ตรงนั้นเป็นสวนมีชื่อว่า "สวนลุมพินีวัน" เป็นสวนป่าไม้
"สาละ" พระนางได้ทรงหยุดพักอิริยาบท (ปัจจุบันคือตำบล "รุมมินเด"
แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล) พระนางประทับยืนชูพระหัตถ์ขึ้นเหนี่ยว
กิ่งสาละ และขณะนั้นเองก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติ
พระสิทธัตถะกุมาร ซึ่งตรงกับวันศุกร์เพ็ญเดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี คำว่าสิทธัตถะแปลว่า "สมปรารถนา"

อีกตอนหนึ่งก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้
เมื่อพระองค์เสวยข้าวมธุปายาสที่บรรจะอยู่ในถาดทองคำของนางสุชาดาแล้ว
ได้ทรงอธิษฐานว่าถ้าพระองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณขอให้การลอยถาดทองคำนี้
สามารถทวนกระแสน้ำแห่งแม่น้ำเนรัญชลาได้ เมื่อทรงอธิษฐานแล้วได้ทรงลอยถาด ปรากฎว่าถาดทองคำนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำ จากนั้นพระองค์เสด็จไปประทับยังควง
ไม้สาละ ตลอดเวลากลางวัน ครั้นเวลาเย็นก็เสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ
ประทับนั่งบนบัลลังก์ภายใต้ต้นโพธิ และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในเวลารุ่งอรุณ ณ วันเพ็ญเดือน 6

ตอนสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
เมื่อพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สาวก เสด็จถึงเขตเมืองกุสินาราของมัลละกษัตริย์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาก จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์ ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดพระที่บรรทม โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ระหว่างต้นสาละ
ทั้งคู่ แล้วพระองค์ก็ทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา (นอนตะแคงขวาพระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวา) และแล้วเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน

สาละ เป็นพืชพวกเดียวกันกับพะยอม เต็ง รัง อยู่ในสกุล "Shorea "
ในวงศ์ " Diptercaroaceae "
ลักษณะ เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ ลำต้น เปลาตรง
เปลือกสีเทาแตกเป็นร่อง เป็นสะเก็ดทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ปลายกิ่งมักจะลู่ลง
กิ่งอ่อนเกลี้ยง ใบ เดี่ยว ดกหนาทึบ รูปไข่กว้าง โคนใบเว้าเข้า ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้นๆ
ผิวใบเป็นมัน ขอบใบเป็นคลื่น ดอก ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่งและง่ามใบ กลีบเลี้ยง
และกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม ผล เป็นผลชนิดแห้งแข็ง มีปีก 5 ปี ปีกยาว 3 ปีก ปีสั้น 2 ปีก บน แต่ละปีกมีเส้นตามความยาวของปีก 10 - 15 เส้น
สาละ Shorea robusta Roxb. เรียกกันว่า "สาละอินเดีย" เพราะยังมีอีกต้นหนึ่ง เรียกว่า"สาละลังกา" หรือ "ต้นลูกปืนใหญ่" (Cannonball Tree) เป็นพืชในวงศ์จิก วงศ์ Lecythidaceae (ปัจจุบันจิกอยู่ในวงศ์ Barringtoniaceae) มืชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Couroupita guianensis Aubl.

สาละลังกา
(Couroupita guianensis Aubl.)


ลักษณะของพืชต้นนี้ เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ เปลือกสีน้ำตาล ใบ เดี่ยว ออกเวียนสลับตามปลายกิ่ง รูปใบหอกกลับ ปลายแหลม โคนสอบ มน ขอบใบจักตื้นๆ ดอก ช่อใหญ่ ยาว ออกตามโคนต้น ดอก สีชมพูอมเหลืองและแดง กลิ่นหอมแรง กลีบดอก 4-6 กลีบ แข็ง หักง่าย เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปโค้ง ผล สด รูปกลม ผิวผลสีน้ำตาล เส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 10-20 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด




No comments: