Wednesday, June 20, 2007

ไม้พุทธประวัติ..บัว,บัวหลวง

บัว บัวหลวง
Nelumbo nucifera Gaertn.


ชื่อวิทยาศาสตร์
ชื่อสามัญ
ชื่อวงศ์
ชื่อบาลี
ถิ่นกำเนิด
สภาพนิเวศน์
การขยายพันธุ์

ประโยชน์




Nelumbo nucifera Gaertn.
Lotus
Nelumbonaceae

ปทุม (ปะ-ทุ-มะ) ,ปทุโม (ปะ-ทุ-โม), ปุณฑรีก (ปุน-ดะ-รี-กะ), สาลุก (สา-ลุ-กะ)
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขึ้นในน้ำจืดออกดอกตลอดปี ชอบน้ำสะอาด ลึกพอควร
เพาะเมล็ด ตักแยกไหล เมล็ดบัวแม้ว่าจะร่วงจากฝักนานแล้วก็สามารถเพาะขึ้นได้ (มีอายุระหว่าง 3,000-5,000 ปี นักพฤกษศาสตร์นำไปเพาะเลี้ยงอยู่ 18 เดือน จึงออกดอก)
อาหาร ใบอ่อนยังไม่คลี่เป็นผัก เหง้าใช้เป็นอาหาร ต้มกับหมู ทำน้ำดื่มสมุนไพร ใช้เชื่อม ไหลใช้เป็นผัก ฝักบัวใช้เป็นอาหาร เมล็ดใช้เป็นอาหารหวานคาว ทำแป้ง ทางยา เหง้าบัวหลวงเป็นยาเย็น ดีบัว (ต้นอ่อนที่อยู่ในเมล็ดบัว) มีสารเป็นอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์ขยายเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เกสรบัว (จากดอกชนิดทรงสลวย) เป็นส่วนของเกสรตัวผู้ ใช้ร่วมกับดอกไม้อื่นๆ เรียกรวมว่า เกสรทั้ง 5 ทั้ง 7 ทั้ง 9 เกสรทั้ง 5,7,9 นี้ ใช้เข้ายาหอมบำรุงหัวใจ



บัวหลวง ในพุทธประวัติ ตอนแรกกล่าวถึงสุบินนิมิตของพระนางสิริมหามายาว่า มีพระเศวตกุญชรใช้งวงจับดอกบัวหลวงสีขาวที่เพิ่งบานใหม่ๆ ส่งกลิ่นหอมตรลบ และทำประทักษิณสามรอบ แล้วจึงเข้าสู่พระครรภ์พระนางสิริมหามายาด้านข้าง ในขณะนั้นได้เกิดบุพนิมิตขึ้น 32 ประการ ประการหนึ่งเกี่ยวกับดอกบัว คือมีดอกบัวปทุมชาติห้าชนิด เกิดดารดาษไปในน้ำและบนบกอย่างหนึ่ง มีดอกบัวปทุมชาติ ผุดงอกขึ้นมาจากแผ่นหินแห่งละเจ็ดดอกอย่างหนึ่ง และต้นพฤกษาลดาชาติทั้งหลาย ก็บังเกิดดอกปทุมชาติออกตามลำต้นและกิ่งก้านอีกอย่างหนึ่ง
ตอนประสูติ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่สวนลุมพินี ทรงบ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุดร และย่างพระบาทไป 7 ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ 7 ดอก ต่อมาเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญพระชนมายุได้ 7 พรรษา พระราชบิดาโปรดให้ขุดสระโบกขรณี 3 สระ สำหรับพระราชโอรสทรงลงเล่นน้ำ โดยปลูกอุบลบัวขาบสระหนึ่ง ปลูกปทุมบัวหลวงสระหนึ่ง และปลูกบุณฑริกบัวขาวอีกสระหนึ่ง
อีกตอนกล่าวว่า ครหพินน์เจ็บใจที่สิริคุตถ์หลอกเดียรถีย์อาจารย์ ให้ตกลงในหลุมอุจจาระ จึงคิดแก้แค้นแก่พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอาจารย์สิริคุตถ์เคารพเลื่อมใสมาก โดยล่อให้ตกลงในหลุมที่ก่อไฟด้วยไม้ตะเคียน เมื่อพระพุทธองค์ย่างพระบาทลงในหลุมเพลิง ก็พลันมีดอกบัวผุดขึ้นและรองรับพระบาทไว้มิให้เกิดอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงพิจารณาถึงธรรมะที่ได้ทรงตรัสรู้ว่าเป็นธรรมะอันล้ำลึกยากที่ชนผู้ยินดีในกามคุณจะรู้ตามได้ แต่ผู้ที่มีกิเลสเบาบางอันอาจรู้ตามก็มี จึงเกิดอุปมาเวไนยสัตว์เหมือน "ดอกบัว" ว่า เวไนยสัตว์ย่อมแบ่งออกเป็นสี่เหล่า คือ
เหล่า 1 อุคคติตัญญูบุคคล คือผู้ที่มีกิเลสน้อย เบาบาง มีสติปัญญาแก่กล้า เปรียบเสมือนดอกปทุมชาติที่โผล่พ้นเหนือพื้นน้ำขึ้นมา พอสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์ก็จะบานทันที
เหล่า 1 วิปัจจิตัญญบุคคล ผู้ที่มีกิเลสค่อนข้างน้อย มีอินทรีย์ปานกลางถ้าได้ทั้งธรรมคำสั่งสอนอย่างละเอียด ก็สามารถรู้แจ้งเห็นธรรมวิเศษได้ เปรียบเสมือนดอกบัวที่เจริญเติบโตขึ้นมา พอดีกับผิวน้ำจักบานในวันรุ่งขึ้น
เหล่า1 เนยยบุคคล ผู้ที่มีกิเลสยังไม่เบาบาง ต้องหมั่นศึกษาพากเพียรเล่าเรียน และคบกัลยาณมิตร จึงสามารถรู้ธรรมได้ เปรียบเสมือนดอกบัวที่ยังจมอยู่ในน้ำ คอยเวลาที่จะโผล่ขึ้นมาจากน้ำ และจะบานในวันต่อๆ ไป
เหล่า 1 ปทปรมบุคคล ผู้ที่มีกิเลสหนา ปัญญาทึบหยาบ หาอุปนิสัยไม่ได้เลย ไม่สามารถจะบรรลุธรรมวิเศษได้ เปรียบเสมือนดอกบัวที่เติบโตและจมอยู่ใต้น้ำ ไม่สามารถที่จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำได้ จะอยู่ได้เพียงใต้น้ำและเป็นอาหารของเต่า ปู และปลา
จะเห็นว่า บัวเป็นดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาหลายๆตอน ชาวพุทธนิยมใช้ดอกบัวบูชาพระรัตนตรัย มาตั้งแต่โบราณกาล ประเทศไทยใช้บัวเป็นดอกไม้ประจำพระพุทธศาสนา



บัวหลวง เป็นไม้อยู่ในสกุล " Nelumbo " ในวงศ์ " Nelumbonaceae "
ลักษณะ บัวหลวงเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าและไหลอยู่ใต้ดิน เหง้า จะมีลักษณะเป็นท่อนยาว มีปล้องสีเหลืองอ่อนจนถึงเหลือง แข็งเล็กน้อย ถ้าตัดตามขวางจะเป็นรูกลมๆ หลายรู ไหลจะเป็นส่วนที่เจริญไปเป็นต้นใหม่ ใบ ใบเดี่ยรูปโล่ ออกสลับ แผ่นใบจะชูเหนือน้ำ รูปใบเกือบกลม ขนาดใหญ่ ขอบเรียบและเป็นคลื่น ผิวใบมีนวล ก้านใบแข็งเป็นหนาม ถ้าตัดตามขวางจะเห็นเป็นรูภายใน ก้านใบมีน้ำยางขาว เมื่อหักจะมีสายใยสีขาว ใบอ่อนสีเทานวล ปลายม้วนงอขึ้นทั้งสองด้าน ก้านใบจะติดตรงกลางแผ่นใบ ดอก เดี่ยว มีสีขาว สีชมพู กลิ่นหอม บัวหลวงจะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเช้า ก้านดอกยาวมีหนามเหมืนก้านใบ ชูดอกเหนือน้ำ และชูสูงกว่าใบเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 4- 5 กลีบ ขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว หรือสีเทาอมชมพู ร่วงง่าย กลีบดอกมีจำนวนมากเรียงซ้อนหลายชั้น เกสรตัวผู้มีจำนวนมากสีเหลือง ปลายอับเรณูมีระยางคล้ายกระบองเล็กๆ สีขาว เกสรตัวเมียจะฝังอยู่ในฐานรองดอกรูปกรวยสีเหลืองนวล ผล รูปกลมรีสีเขียวนวล มีจำนวนมาก ฝังอยู่ในส่วนที่เป็นรูปกรวย เมื่ออ่อนมีสีเหลือง รูปกรวยนี้เมื่อเป็นผลแก่จะขยายใหญ่ขึ้นมีสีเทาอมเขียว ที่เรียกว่า "ฝักบัว" มีผลสีเขียวอ่อนฝังอยู่เป็นจำนวนมาก


ปทุมชาติ
ัวหลวง Nelumbo nucifera Gaertn.





แบ่งออกเป็น
บัวหลวงพันธุ์ดอกสีชมพู

  • ชนิดทรงสลวย รูปดอกจะเป็นพุ่มทรงสูง กลีบดอกสีชมพู ซ้อนกันหลายชั้น แต่ละกลีบโค้ง มีเกสรตัวผู้สีเหลืองเป็นจำนวนมาก ถัดเข้าไปตรงกลางเป็นส่วนฐานรองดอก จะขยายเป็นรูปกรวยสีเหลือง เป็นส่วนที่ไข่จะฝังอยู่ และไข่จะเจริญไปเป็นผลบัวและฝังอยู่บนฝักบัว บัวชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า "ปทุม ปัทมา โกกระนต โกกนุต"

  • ชนิดทรงป้อม ดอกตูมจะมีทรงอ้วนป้อม ไม่สลวยเหมือนชนิดแรก เมื่อดอกบานจะเห็นมีกลีบเล็กๆ สั้นๆ สีขาวปนชมพูซ้อนอยู่ข้างใน และอยู่ปนกับเกสรตัวผู้ใกล้กับรูปกรวย ซึ่งจะเจริญไปเป็นฝักบัว ส่วนกลีบดอกชั้นนอก 2-3 ชั้น จะคล้ายกับชนิดแรก แต่กลีบจะสั้นป้อมกว่า บัวหลวงทรงป้อมนี้มักไม่ติดเมล็ด ชนิดนี้เรียกว่า บัว"สัตตบงกช"

  • ชนิดดอกเล็ก ชนิดนี้กลีบดอกสีชมพู รูปร่างเหมือนทรงสลวย แต่จะย่อส่วนลง ใบ ดอก เล็กลงประมาณ 3 เท่า มีผู้รู้กล่าวว่าพันธุ์นี้น่าจะนำมาจากจีน จึงมีชื่อเรียกว่า "บัวหลวงจีน บัวปักกิ่ง บัวเข็ม บัวไต้หวัน" มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า " Nelembo nucifera var.pekinese"

    บัวหลวงพันธุ์ดอกสีขาว

  • ชนิดทรงสลวย จะมีรูปร่าง ขนาดดอกเหมือนกับบัวปทุม แต่กลีบดอกเป็นสีขาว บัวชนิดนี้เรียกว่า "บุณฑริก"

  • ชนิดทรงป้อม จะมีรูปร่างเช่นเดียวกับสีชมพูทรงป้อม หรือ สัตตบงกช ชนิดนี้จะหอมมาก แต่กลีบดอกเป็นสีขาวเรียกว่า "สัตตบุษย์"

กล่าวถึงบัวในเชิงศิลปะ

ดอกบัวหลวงเป็นต้นเค้าของพุทธศิลปไทย ใช้เป็นองค์ประกอบเชิงศิลปที่นิยมทำเป็นรูปรองรับพระพุทธปฏิมากร สถูปเจดีย์ อาคารที่สร้างขึ้นสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ อาคารสำหรับสถาบันทางพุทธศาสนา เทวรูป และเครื่องราชูปโภค ฯลฯ

ศัพท์ที่กล่าวกับบัวในศิลปะ

เช่น บัวกระจับ บัวหัวเสา เป็นต้น

บัวเป็นชื่อจังหวัดและชื่ออำเภอของประเทศไทย

ที่เป็นชื่อจังหวัดและยังใช้เป็นตราประจำจังหวัดด้วย ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี อุบลราชธานี และหนองบัวลำภู มีชื่ออำเภอหลายแห่งที่มีคำว่า "บัว" เช่น อำเภอบางบัวทอง อำเภอลาดบัวหลวง ฯลฯ และยังเป็นตราของกระทรวงต่างประเทศ คือ "ตราบัวแก้ว"

บัวในเงินตรา ดวงตรา

เงินตราทวาราวดี ซึ่งเป็นเงินเหรียญมีรูปร่างต่างๆ ผสมกัน เช่น รูปสังข์ "รูปกระต่ายบนดอกบัว" ฯลฯ
เงินตรากรุงศรีอยุธยา เป็นเงินพดด้วง ส่วนใหญ่ตีตราธรรมจักร และตราประจำรัชกาล เช่น ครุฑ ช้าง "ดอกบัว" ฯลฯ
เงินตรากรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เป็นเงินพดด้วง ตราจักร มีตราประจำรัชกาล เป็น "บัวผัน" หรือ "บัวอุณาโลม"


No comments: